แรงงานไทย หนี้ครัวเรือนพุ่ง 99% สูงสุดในรอบ 13 ปี เหตุเงินไม่พอจ่ายหนี้

แรงงาน สังคมเมือง

หอการค้าไทย เผยผลสำรวจสถานการณ์แรงงานไทยในปี 2565 พบว่า แรงงานไทยมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปีนี้ สูงถึง 99% สูงสุดในรอบ 13 ปี ผลกระทบจากรายได้ไม่พอต่อการชำระหนี้

วันที่ 28 เมษายน 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า

จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มแรงงานส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ทรุดแล้ว แต่ก็ยังไม่ฟื้นตัวและยังพบว่าแรงงานปัจจุบันมีหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย 5,000-10,000 บาทต่อเดือน ไม่มีรายได้พอต่อการชำระหนี้

จากผลสำรวจปี 2565 หนี้เพิ่มขึ้น 99% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจมา ยกเว้นปี ที่มีการล็อกดาวน์ที่ไม่มีการสำรวจ

ทั้งนี้ แรงงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้มีรายได้เป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาภาระหนี้มากที่สุด และจากเศรษฐกิจที่แรงงานมองว่าไม่ทรุดทำให้ไม่มีความกังวลเรื่องของการตกงานและการหางานใหม่

ขณะที่ประเทศไทยมีการว่างงานเพียง 2% โดยสิ่งที่แรงงานกังวลมากสุดคือ ราคาสินค้า และเศรษฐกิจ ที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล โดยหอการค้ายังคงจีดีพีของไทยปี 2565 อยู่ที่ 3-3.5%

ซึ่งก็คาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ที่จะเข้ามาในช่วงไตรมาส 3 แต่ระหว่างลอยต่อนี้ มาตรการคนละครึ่งจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี แม้จะใส่มาตรการเงินละครึ่งที่ 1,000-1,500 บาท ต่อก็มีผลต่อการพยุงเศรษฐกิจได้

ส่วนกรณีข้อเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 492 บาท มีโอกาสการปรับขึ้นค่อยข้างยาก เพราะเป็นการปรับขึ้นค่าแรง 10-20% เป็นการปรับขึ้นที่สูงมาก

โดยปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำนั้นอยู่ที่ 336 บาท หากจะมีการปรับขึ้นมองว่าควรจะปรับขึ้น 3-5% ตามอัตราเงินเฟ้อ ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพซึ่งแรงงานส่วนใหญ่มองแบบนั้น และหากจะปรับในอัตราที่สูงจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และจะเป็นการเร่งให้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้มากขึ้น และการปลดแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก ร้านอาหารที่มีแรงงานไม่มาก

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าแรงยังจำเป็นที่จะต้องประชุมไตรภาคีของแต่ละจังหวัดระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ในการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงและให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

โดยมองว่าทั้งปี 4-5% ส่วนการลอยตัวน้ำมันดีเซลที่จะเริ่ม พ.ค. 2565 นี้ ซึ่งจะปรับเป็นขั้นบันไดหลังจากรัฐตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร จะให้ปรับขึ้น 32-35 บาทต่อลิตร รับว่ามีผลต่อการชะลอตัวเศรษฐกิจและต้นทุนราคาสินค้าแต่เพื่อการกระตุ้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามาดูแลเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้เติบโต

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ สถานการณ์แรงงานไทยปี 2565 และทัศนคติต่อประเด็นต่าง ๆ ในปัจจุบัน จากกลุ่มตัวอย่าง 12,60 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-24 เมษายน 2565

พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ 52.0% เป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม และ 48.0% อยู่ในระบบประกันสังคม และแรงงานจะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31.4% อยู่ในภาคกลาง 22.4% เหนือ 15.7% ใต้ 14.0% และอยู่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 16.5%

นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมถึง 67.7% และ 32.3% มีเงินออมที่มาจากรายได้ 7.2% และส่วนใหญ่ของแรงงานไม่มีอาชีพเสริม และจากการสำรวจเพิ่มเติมยังพบว่า แรงงานปัจจุบันมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 99% ซึ่งสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 จาก 95%

โดยการสร้างหนี้ส่วนใหญ่มาจากการใช้จ่ายประจำวัน หนี้บัตรเครดิต สูงที่สุด และนำเงินไปใช้เงินกู้ รองลงมาเป็นหนี้ที่เกิดจากที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

และเมื่อมีภาระหนี้สินทำให้ต้องชำระหนี้ต่อเดือน เช่น ในระบบ เฉลี่ยอยู่ที่ 7,839 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย 7.68% ต่อปี ชำระหนี้ในระบบ เฉลี่ย 3,755 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย 12.57% ต่อเดือน และทำให้พบว่า 1 ปีที่ผ่านมา แรงงานส่วนใหญ่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ 68.5% ที่ผิดชำระหนี้มีเพียง 31.5%

สาเหตุที่ผิดชำระหนี้ มาจากหนี้เยอะ ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่พอ ทั้งนี้ เมื่อผิดชำระหนี้ทำให้แรงงานประสบปัญหาการใช้จ่ายใน 3 เดือนข้างหน้าลดลง 48.3% แม้ปัจจุบันการใช้จ่ายเท่าเดิมก็ตาม

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของแรงงานยังคงใช้จ่ายเท่าเดิมที่ 48.9% เพราะไม่ต้องการเป็นหนี้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หอกาค้าไทย ยังสำรวจทรรศนะทั่วไปของแรงงานไทยในปัจจุบัน พบว่า

แรงงานยังกังวลปัญหาด้านเศรษฐกิจของไทย ราคาสินค้าในอนาคต การแพร่ระบาดของโควิด การใช้หุ่นยนต์มาแทนแรงงาน เป็นต้น และสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล คือ ค่าครองชีพ ราคาสินค้า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การว่างงาน และปัจจุบันยังพบว่าแรงงานลดการใช้จ่ายลงทั้งด้านท่องเที่ยว ซื้อสินค้าคงทน เช่น ตู้เย็น ทีวี เป็นต้น

ส่วนการใช้จ่ายในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2565 พบว่าจะมีเงินสะพัดเพียง 1,525 ล้านลาท ลดลง 14.9% ซึ่งลดลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และจากการสำรวจยังพบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีความเหมาะสม 49.0% โดยให้เหตุผลว่า ราคาสินค้าแพง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เศรษฐกิจไม่ดี จึงมีความคาดหวังให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

เพราะจะทำให้อำนาจของการซื้อเพิ่มขึ้น และมองว่าการขึ้นค่าแรงไม่ได้มีผลต่อการกระทบต่อราคาสินค้าในปัจจุบันมาก และเห็นสมควรว่าไม่ควรผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคด้วย