เงินเฟ้อพุ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน EIC จี้รัฐหาทางแก้อย่างยั่งยืน

EIC ชี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ไตรมาส 4/2564 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 90.1% จับตาปี 2565 แรงกดดันจากเงินเฟ้อ-รายได้ที่ฟื้นตัวช้ายิ่งเพิ่มแรงกดดันหนี้ครัวเรือน

วันที่ 25 เมษายน 2565 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 4/2564 โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 4 ปี 2564 อยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท ขยายตัวที่ 3.9%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าและเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของ GDP ที่ชะลอตัวลงมากทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 90.1% ปรับตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

โดยการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4 ชะลอลงในทุกหมวดสินเชื่อสำคัญยกเว้นบัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม สินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวอยู่ในระดับสูง แสดงถึงแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปตามรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว

ปัญหาเงินเฟ้อยิ่งกดดันหนี้ครัวเรือนไทย

ทั้งนี้ ปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดทั้งปี 2565 จากปัจจัยด้านราคาพลังงานและอาหารยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือน โดยภาวะเงินเฟ้อสูงในช่วงที่รายได้ฟื้นตัวช้าจากแนวโน้มตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง จะส่งผลกระทบต่อรายได้ที่แท้จริง กำลังซื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ประกอบกับครัวเรือนบางกลุ่ม

โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่ายในส่วนอาหารและพลังงานรวมกันมากกว่าครึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด อาจจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเติมเมื่อรายได้ไม่พอรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาที่เร่งตัว โดย EIC คาดว่าในปี 2565 หนี้ครัวเรือนไทยจะยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงเดิม

การช่วยเหลือจากภาครัฐยังจำเป็น

ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านโครงการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ผ่านมายังเป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้น


โดยภาครัฐควรมีมาตรการจัดการเรื่องหนี้ครัวเรือนแบบยั่งยืนโดยมุ่งเน้นทั้งการจัดการหนี้ปัจจุบัน ลดการก่อหนี้ที่เกินตัวเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมด้านรายได้และการจ้างงาน เช่น การส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในภาคธุรกิจผ่านการอุดหนุนการจ้างงานและการปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด