สินมั่นคง อนุมัติฟ้อง คปภ.เรียกค่าเสียหาย 2 หมื่นล้าน

สินมั่นคงประกันภัย

เปิดวาระประชุมผู้ถือหุ้น “สินมั่นคงประกันภัย” อนุมัติฟ้อง คปภ.เรียกค่าเสียหายมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท แหล่งข่าว คปภ.เผยว่า ยื่นฟ้องศาลเมื่อ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา

วันที่ 28 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2565 ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 ได้มีการพิจารณาวาระเรื่องอื่นเพิ่มเติม โดยนางศิวะพร ดุษฎีสุรพจน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 จำนวน 17.16 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.58% และในฐานะผู้รับมอบฉันทะจากนางวิจิตรา ดุษฎีสุรพจน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 7 และบริษัท ดุษฎีสุรพจน์ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ซึ่งถือหุ้นรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 37.92%

มีความประสงค์ขอใช้สิทธิพิจารณาอนุมัติการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้เกี่ยวข้องเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น กรณีเกี่ยวกับผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัท จากคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เกี่ยวกับสัญญาประกันภัยโควิดเจอ-จ่าย-จบ

เนื่องจากนายทะเบียนหรือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีคำสั่งอนุมัติ (คำสั่งเดิม) เห็นชอบให้บริษัทใช้ข้อความในสัญญาประกันภัยเจอ-จ่าย-จบ โดยมีเนื้อหาให้สิทธิแก่บริษัทและลูกค้าบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งบริษัทเชื่อถือในคำสั่งเดิมและทำสัญญาประกันภัยโควิดกับลูกค้า จำนวน 1.95 ล้านราย ทุนประกันภัยรวม 1.64 แสนล้านบาท

แต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายทะเบียนออกคำสั่งใหม่ เป็นคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ระบุว่า ให้ยกเลิกเงื่อนไขสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย ผลคือบริษัทเลิกสัญญากรมธรรม์ประกันภัยเจอ-จ่าย-จบ ไม่ได้ และต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนจำนวนมาก

บริษัทจึงเห็นว่า 1.ควรเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 น่าจะไม่เห็นชอบด้วยกฎหมาย หรือ 2.บริษัทควรได้รับค่าทดแทนจากความเชื่อในความคงอยู่ของคำสั่งเดิม

ทั้งนี้แนวทางการดำเนินการคือ จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก คปภ.ทุนทรัพย์ที่ฟ้องร้องจะมากกว่า 20,000 ล้านบาท โดยประมาณการความเสียหายจนถึงวันที่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยเจอ-จ่าย-จบ ฉบับสุดท้าย ซึ่งจะสิ้นสุดความคุ้มครองในเดือนเมษายน 2565

โดยคาดว่าบริษัทอาจต้องฟ้องร้อง 2 คดีคือ คดีแรก จะฟ้องเป็นคดีละเมิด (บริษัทได้รับความเสียหายจากคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ที่บริษัทเห็นว่าไม่เห็นชอบด้วยกฎหมาย) และคดีที่สอง จะเป็นคดีฟ้องร้องกรณี คปภ.ไม่ชำระค่าทดแทนตามที่บริษัทได้เรียกร้องไป (ซึ่งบริษัทเห็นว่า คปภ.ต้องชดใช้เงินให้บริษัทไม่ว่าคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ เพราะคำสั่งดังกล่าวมีผลเพิกถอนคำสั่งเดิม ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย เพราะบริษัทได้ขายกรมธรรม์โควิด โดยเชื่อถือโดยสุจริตในความคงอยู่ของคำสั่งเดิมที่ให้บริษัทเลิกสัญญาได้) นอกจากนี้ก็ไม่ได้ตัดสิทธิการฟ้องร้องคดีอาญาในภายหลัง

ทั้งนี้คาดว่าการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลางจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี และในขั้นตอนศาลปกครองสูงสุดหากมีการอุทธรณ์ อาจจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี โดยรวมแล้วจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี โดยที่ประชุมพิจารณาและลงมติอนุมัติด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 172 ล้านเสียง คิดเป็นสัดส่วน 100%

ด้านแหล่งข่าว คปภ.กล่าวว่า สินมั่นคงประกันภัยได้ยื่นฟ้อง คปภ.ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ตอนนี้รอการพิจารณารับคำฟ้องจากศาล หากศาลรับเรื่องก็จะส่งหนังสือมายังสำนักงาน คปภ.เพื่อให้ยื่นคำให้การต่อไป ทั้งนี้อาจเหมือนกรณีอาคเนย์และไทยประกันภัยก็ได้ที่ศาลไม่รับฟ้องคือ นัดไต่สวนมูลฟ้องและให้ คปภ.ไปให้การ แต่กรณีนั้นศาลยังไม่ได้ตัดสินรับคำฟ้องแต่ทั้งสองบริษัทก็ถอนฟ้องไปก่อน

“โดยปกติแล้วเวลาบริหารงานผิดพลาดอาจโดนฟ้องจากผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ ฉะนั้นการเดินเกมแนวทางนี้เหมือนโยนความผิดไปให้คนอื่นว่าไม่ได้ผิดเพราะฉันบริหารไม่ดี แต่ผิดเพราะ คปภ.ไม่ให้เลิกสัญญาจึงขาดทุน ฉะนั้นน่าจะเป็นการป้องกันนักลงทุนรายย่อยฟ้องร้อง เพราะตัวเขารู้อยู่แล้วว่าโดยหลักการเป็นไปได้ยากมากที่จะชนะคดีนี้” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับภาพรวมปี 2564 สินมั่นคงประกันภัย ขาดทุนจากการรับประกันภัย 6,406 ล้านบาท ลดลง 810.53% จากปีก่อน และขาดทุนสุทธิ 4,753 ล้านบาท ลดลง 727.64% สาเหตุหลักจากการประสบผลขาดทุนของกรมธรรม์ประกันภัยโควิดสูงถึง 7,632 ล้านบาท โดยมีค่าสินไหมโควิดรวม 8,141 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราค่าสินไหมรวม(Loss Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 135.4% จาก 62.8% ในปี 2563 และมีหนี้สินเพิ่มขึ้น 7.18% เป็น 9,521 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 68.17% เหลือแค่ 2,196 ล้านบาท

จากข้อมูลเบี้ยประกันรับปี 2564 มีมูลค่า 10,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.64% โดยมาจากเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 8,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.33% และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด (รวมกรมธรรม์ เจอ-จ่าย-จบ) 1,859 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.52% เบี้ยประกันอัคคีภัย 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.01% และเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.79%