เจอจ่ายจบ เคลมท่วมแสนล้าน ถึงคิว สินมั่นคง ยื่นฟื้นฟูกิจการ

สินมั่นคง

จับตาสินมั่นคงประกันภัยเหยื่อ “เจอจ่ายจบ” รายที่ 5 ดิ้นฝ่ามรสุมพิษเคลมประกันภัยโควิดล้นทะลัก เตรียมยื่นแผนขอฟื้นฟูกิจการจาก คปภ.เป็นรายแรกในประวัติศาสตร์ คุ้มครอง “พักชำระหนี้” ขอเวลาเจรจาผู้ร่วมทุนรายใหม่แก้ปัญหาสภาพคล่อง หลังหนี้สินพุ่งเฉียดหมื่นล้านบาท

วงในเผยพอร์ตใหญ่ “ประกันรถยนต์” ยังมีอนาคต บริษัทเดินหน้าฟ้อง คปภ.ออกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย วงการวิเคราะห์ความเสียหายยอดเคลมโควิดรวมปีนี้ทะลุแสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นระเบิดลูกใหญ่ใส่ธุรกิจประกันวินาศภัย จากการเปิดขายกรมธรรม์โควิดแบบ “เจอ-จ่าย-จบ” ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจนทำให้ต้องปิดกิจการไปแล้วทั้งสิ้น 4 บริษัท

คือ บริษัท เอเชียประกันภัย, เดอะวัน ประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย ทำให้ภาระไปตกที่กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) จะเข้ามาจัดการชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดกิจการ

อย่างไรก็ตามบริษัทประกันภัยที่เผชิญวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ยังไม่จบ รายงานข่าวระบุว่า บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เหยื่อ “เจอจ่ายจบ” รายที่ 5 กำลังฝ่ามรสุมพิษเคลมประกันภัยโควิดที่ล้นทะลักอย่างหนักในปีนี้ที่จะหาทางออกของธุรกิจอย่างไร ขณะที่มีการวิเคราะห์กันว่าปีนี้อาจต้องจ่ายเคลมสูงทะลุแสนล้าน

“สินมั่นคง” ดิ้นฟ้อง คปภ.

รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2565 ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 ได้มีมติอนุมัติดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก คปภ.ด้วยมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยตระกูลดุษฎีสุรพจน์ และบริษัท ดุษฎีสุรพจน์ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่รวมทั้งสิ้น 37.92%

ขอใช้สิทธิอนุมัติการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น กรณีผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัท จากคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เกี่ยวกับสัญญาประกันภัยโควิดเจอ-จ่าย-จบ

โดยระบุว่า เนื่องจากนายทะเบียนหรือเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีคำสั่ง (เดิม) เห็นชอบให้บริษัทใช้ข้อความในสัญญาประกันภัยเจอ-จ่าย-จบ โดยให้สิทธิแก่บริษัทและลูกค้าบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งบริษัทเชื่อถือในคำสั่งเดิมและทำสัญญาประกันภัยโควิดกับลูกค้า จำนวน 1.95 ล้านราย ทุนประกันภัยรวม 1.64 แสนล้านบาท

แต่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ระบุว่า ให้ “ยกเลิก” เงื่อนไขสิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย ทำให้บริษัทเลิกสัญญากรมธรรม์ประกันภัยเจอ-จ่าย-จบไม่ได้ และต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนจำนวนมาก

สกัดรายย่อยฟ้องบริหารพลาด

แหล่งข่าว คปภ.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทสินมั่นคงประกันภัยได้ยื่นฟ้อง คปภ.ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ตอนนี้รอการพิจารณารับคำฟ้องจากศาล หากศาลรับเรื่องก็จะส่งหนังสือมายังสำนักงาน คปภ.เพื่อให้ยื่นคำให้การต่อไป

ทั้งนี้อาจเหมือนกรณีอาคเนย์และไทยประกันภัยก็ได้ที่ศาลไม่รับฟ้อง คือนัดไต่สวนมูลฟ้องและให้ คปภ.ไปให้การ แต่กรณีนั้นศาลยังไม่ได้ตัดสินรับคำฟ้องแต่ทั้งสองบริษัทก็ถอนฟ้องไปก่อน

“โดยปกติแล้วเวลาบริหารงานผิดพลาดอาจโดนผู้ถือหุ้นรายย่อยฟ้องได้ ฉะนั้นการเดินเกมฟ้อง คปภ.น่าจะเพื่อปกป้องตนเอง ว่าไม่ได้เสียหายเพราะบริหารงานไม่ดี แต่เป็นเพราะ คปภ.ไม่ให้ยกเลิกสัญญาจึงเกิดความเสียหายจนทำให้บริษัทขาดทุน อย่างไรก็ตามโดยหลักการเป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะชนะคดีนี้” แหล่งข่าวกล่าว

หนี้สินพุ่งเฉียดหมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทสินมั่นคงประกันภัยถือเป็นหนึ่งในบริษัทประกันที่ได้รับผลกระทบจากการขายกรมธรรม์โควิด “เจอ-จ่าย-จบ” จนทำให้สถานะการเงินของบริษัทมีปัญหา ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทได้ยื่นขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของ คปภ. ในการลดภาระการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้บริษัทถือเงินสดในมือได้มากขึ้น

โดยที่ผ่านมาสินมั่นคงฯได้มีความพยายามในการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนในวงจำกัดแต่เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่สิ้นสุด ทำให้ผู้ลงทุนใหม่ขอยุติการเจรจา

ขณะที่ผลประกอบการบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ณ สิ้นปี 2564 พบว่าขาดทุนสุทธิ 4,753 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีกำไร 757 ล้านบาท สาเหตุหลักจากการประสบผลขาดทุนของกรมธรรม์ประกันภัยโควิดสูงถึง 7,632 ล้านบาท โดยต้องจ่ายค่าสินไหมโควิดรวม 8,141 ล้านบาท

ส่งผลให้อัตราค่าสินไหมรวม (Loss Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 135.4% จาก 62.8% ในปี 2563 และมีหนี้สินรวม 9,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.18% ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง 68.17% จาก 6,901.23 ล้านบาท ในปี 2563 เหลือแค่ 2,196 ล้านบาท

ลูกค้าแห่ทวงเงินเคลมโควิด

จากการตรวจสอบข้อมูลในเพจเฟซบุ๊ก “สินมั่นคงประกันภัย” พบว่ามีผู้ซื้อกรมธรรม์โควิด “เจอ-จ่าย-จบ” ของสินมั่นคงจำนวนมากเข้าไปทวงถามเงินเคลม “เจอ-จ่าย-จบ” ที่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กันคือปัญหาช่องทางการติดต่อบริษัทเรื่องเบอร์คอลเซ็นเตอร์1596 โทรไม่ติดเลย

รวมถึงในกรณีการยื่นเอกสารเคลมประกันไปในช่องทางต่าง ๆ นานนับเดือนแต่ยังไม่ได้รับฟีดแบ็กหรือการติดต่อกลับจากบริษัทแต่อย่างใด จะมีเพียงตอบกลับว่าได้รับเอกสารแล้ว ขณะที่บริษัทก็ไม่ได้มีการออกมาชี้แจงข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับความล่าช้าในการจ่ายเงินเคลม

แหล่งข่าว คปภ.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรณีที่ลูกค้าประสบปัญหาติดต่อบริษัทประกันไม่ได้ หรือได้รับเงินเคลมสินไหมประกันภัยโควิดล่าช้า คปภ.แนะนำให้เข้ามาร้องเรียนสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อจะได้มีกลไกที่ชัดเจนในการตรวจสอบเอกสาร และให้เจ้าหน้าที่ คปภ.ได้ช่วยประสานงานให้ก่อน

ซึ่ง คปภ.กำหนดให้จ่ายเคลมภายใน 15 วัน โดยนับวันแรกจากวันที่เอกสารครบ และไม่มีข้อโต้แย้ง หากมีปัญหาต่อเนื่องจะลงโทษฐานประวิงเวลาจ่ายสินไหมทดแทน

โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท จนกว่าบริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วเสร็จ

เปิดช่องประกัน “ฟื้นฟูกิจการ”

แหล่งข่าวจากสำนักงาน คปภ.กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้ลงนามออกประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2565 โดยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้กำหนดให้บริษัทประกันภัยซึ่งเป็นหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

หรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากกรมการประกันภัย แต่เนื่องจากกรมการประกันภัยถูกยุบเลิกไป ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 ดังนั้นต้องได้รับความยินยอมจาก คปภ.

ทั้งนี้ บริษัทที่จะยื่นขอฟื้นฟูกิจการต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคือ 1.หนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้เดียวหรือรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม 2.มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางจะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

3.ไม่มีคำสั่งศาลพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด 4.ต้องไม่ถูกศาลหรือนายทะเบียนสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคล 5.ต้องไม่เคยถูกศาลล้มละลายยกคำร้องขอยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนที่ยื่นคำร้องขอ และ 6.มีแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

โดยการทำแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย 1.รายชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน 2.หนังสือยินยอมของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน 3.แนวทางในการบริหารสภาพคล่อง 4.แหล่งที่มาของสภาพคล่องในช่วงที่ดำเนินการฟื้นฟู 5.ระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟู

6.กลไกในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชน 7.การจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม 8.แนวทางในการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้และการกลับมาดำเนินธุรกิจในอนาคต และ 9.ความเป็นไปได้ในการชำระหนี้

“การออกประกาศฉบับนี้ คปภ.ต้องจัดการให้มีระเบียบรองรับเหมือนกับที่ ธปท.และ ก.ล.ต.มี เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้สินมั่นคงฯมีแผนจะยื่นขอฟื้นฟูกิจการมาแล้วรอบหนึ่งและได้ถอนออกไป หลังมีผู้สนใจร่วมทุน แต่เมื่อผู้ร่วมทุนขอชะลอดูเคลมสินไหมโควิดไปก่อนหลังสิ้นเดือน เม.ย.65 ก็มีกระแสว่าจะมาขอยื่นขอฟื้นฟูกิจการอีกครั้ง” แหล่งข่าว คปภ.กล่าว

ฟื้นฟูกิจการ-ใส่เงินเพิ่มทุน

แหล่งข่าววงในธุรกิจประกันวินาศภัยกล่าวว่า ถ้าเทียบระหว่างอาคเนย์ประกันภัยกับสินมั่นคงประกันภัยที่มีขนาดเบี้ยประกันใกล้เคียงกันประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่มูลค่าธุรกิจจะไม่เหมือนกัน เพราะสินมั่นคงประกันภัยทำกำไรในอัตราที่ดีมาตลอดเป็นระยะ 10 ปี และมีเงินกองทุนสะสมก่อนเกิดโควิดมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ถือว่าแข็งแรงมาก เพียงแต่ตอนนี้เจออุบัติเหตุจากโควิดทำให้เงินกองทุนขาดหรือต่ำกว่าเกณฑ์ คปภ.

นอกจากนี้สินมั่นคงฯยังมีแบรนดิ้งที่ดี คือมีฐานลูกค้าที่ดี รวมทั้งเครือข่ายตัวแทนที่ค่อนข้างแข็งแรง ถึงแม้วันนี้เงินกองทุนจะขาด แต่ปัจจัยข้างต้นถือเป็นมูลค่าของบริษัท ที่จะสามารถหานักลงทุนรายใหม่มาเพิ่มทุนได้ง่ายกว่า เพราะนักลงทุนจะมั่นใจในระบบที่มีอยู่ ซึ่งคาดว่าอาจต้องใส่เงินเพิ่มทุนหลักหมื่นล้านบาทถึงจะเพียงพอดำเนินธุรกิจต่อไป

“สินมั่นคงประกันภัยเหมือนเรือที่ยังไม่พัง ยังออกหาปลาได้ แต่อาคเนย์พังหมดแล้วเพราะขาดทุนไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท ถ้าเทียบความเข้มแข็งการทำกำไรหรือมาตรฐานระบบบริหารงาน สู้สินมั่นคงฯไม่ได้ ดังนั้นต้องช่วยให้เขาผ่านไปให้ได้ แม้เงินกองทุนจะขาดเหมือนกันแต่สถานะต่างกัน”

ศาลคุ้มครอง “พักชำระหนี้”

แหล่งข่าวเผยว่า หนี้ส่วนใหญ่ของสินมั่นคงฯเป็นหนี้เคลมประกันภัยโควิดของลูกค้ารายย่อย ปัญหาตอนนี้คือเงินกองทุนขาด แม้ คปภ.จะยืดหยุ่นเกณฑ์คำนวณเงินกองทุนล่าสุด แต่คงไม่พอต้องเพิ่มทุนเท่านั้น ฉะนั้นแนวทางยื่นขอฟื้นฟูกิจการน่าจะเป็นการดึงเวลามากกว่าอาจจะ1-2 เดือน

หลังจากรู้ยอดหนี้จะพูดคุยกับนักลงทุนรายใหม่ได้ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันภัยถ้าทำแผนฟื้นฟูแม้จะดำเนินธุรกิจได้ แต่ผู้บริโภคอาจขาดความเชื่อถือ กังวลว่าซื้อประกันแล้วเกิดเหตุอาจไม่มีเงินจ่าย

ทั้งนี้ หากศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว ก็จะทำให้บริษัทได้รับความคุ้มครองอยู่ใน “สภาวะพักชำระหนี้” (Automatic Stay) จะทำให้ไม่ถูกเจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่ง/ล้มละลาย รวมถึงไม่ถูกหน่วยงานของรัฐเพิกถอนใบอนุญาต

พ.ค.เจรจาผู้ร่วมทุนรอบใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของสินมั่นคงประกันภัย เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 ระบุว่า ภายในเดือนเม.ย.หรือ พ.ค. 2565 บริษัทมีแผนจะเจรจาบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศขนาดใหญ่ 10 บริษัท ที่สนใจจะร่วมทุนกับบริษัทรอบใหม่ หลังจากเดือน ม.ค. 2565 ทุกรายได้แจ้งชะลอการเจรจาเพื่อประเมินผลกระทบและค่าสินไหมจากเคลมประกันภัยโควิดที่ชัดเจนมากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า จากข้อมูลเบี้ยประกันรับปี 2564 มูลค่า 10,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.64% โดยมาจากเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 8,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.33% และเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด (รวมกรมธรรม์ เจอ-จ่าย-จบ) 1,859 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.52%

เบี้ยประกันอัคคีภัย 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.01% และเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง 26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.79% ฉะนั้นประเมินจากพอร์ตเบี้ยส่วนใหญ่ที่ยังเป็นพอร์ตดี ที่น่าจะทำให้ผู้ร่วมทุนยอมใส่เงินเพื่อสนับสนุนให้สินมั่นคงฯรอดจากวิกฤตนี้ไปได้

คปภ.ผ่อนเกณฑ์เงินกองทุนพ้นน้ำ

ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัทประกันวินาศภัย กล่าวว่า เมื่อ ม.ค. 65 อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัยอยู่ที่ 112% ต่ำกว่าเกณฑ์ คปภ.กำหนด แต่เมื่อ 22 เมษายน 2565 คปภ.ได้ออกประกาศยืดหยุ่นให้ปรับเกณฑ์คำนวณอัตราเงินกองทุนฯ

เพื่อประคับประคองบริษัทประกันวินาศภัยที่ขายประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบให้ผ่านช่วงวิกฤตจ่ายเคลม โดยให้นำภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (Deferred Tax Asset) และหนี้สินภาษีเงินได้รอตัดบัญชี (Deferred Tax Liability) มาประเมินเป็นสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัทได้

ฉะนั้นคาดการณ์ว่าจะทำให้อัตราเงินกองทุนฯ ของบริษัทสินมั่นคงประกันภัยในช่วงไตรมาส 1/65 จะกลับมาที่สัดส่วนระดับ 200% หรือสูงกว่า 120% ตามเกณฑ์ คปภ.กำหนด เพื่อไม่ให้บริษัทถูกระงับการประกอบกิจการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหลังผ่านเทศกาลสงกรานต์ไปแล้วต้องมาพิจารณาตัวเลขจ่ายเคลมประกันภัยโควิดกันอีกทีว่าจะเพิ่มไปแค่ไหน

เคลมโควิดทะลุแสนล้าน

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ยอดการเคลมประกันภัยโควิด ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565 แตะระดับ 60,000 ล้านบาทแล้ว เพิ่มขึ้นทะลุ 150% หรือ 1.5 เท่า จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท และยังมีความเสี่ยงยอดเคลมสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ มีโอกาสที่ยอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงกว่าช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บริษัทไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE คาดการณ์ยอดเคลมประกันภัยโควิดทั้งระบบ จะปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ไปแตะระดับ 100,000 ล้านบาท ในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่กรมธรรม์ส่วนใหญ่จะสิ้นสุดความคุ้มครอง

แหล่งข่าวกล่าวว่า สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิดปี 2564 มีประมาณ 2.2 ล้านราย บริษัทประกันวินาศภัยจ่ายเคลมประกันภัยโควิดกว่า 4 หมื่นล้านบาท (รวมเคลมบริษัทเอเชียประกันภัย, เดอะวันประกันภัย, อาคเนย์ประกันภัย, ไทยประกันภัย) ส่วนปีนี้ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดแค่ 1.88 ล้านราย แต่จ่ายเคลมสินไหมตอนนี้เพิ่มเกือบ 2 เท่า ซึ่งถือว่าสูงผิดปกติมาก

โดยยอดเคลมสินไหมของทั้งอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยที่แจ้งปิดกิจการ น่าจะแจ้งไปยังกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) รวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนเคลมสินไหมของสินมั่นคงฯ ตอนนี้คาดว่าน่าจะสูงกว่าหมื่นล้านบาทไปแล้ว ดังนั้นปีนี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ทั้งธุรกิจประกันวินาศภัยน่าจะต้องจ่ายเคลมประกันภัยโควิดมูลค่าหลักแสนล้านบาท แต่บางส่วนจะตกเป็นภาระกองทุนประกันวินาศภัย

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก คปภ. ณ 15 มี.ค. 65 กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ยอดเคลมสินไหมโควิดทั้งระบบ 52,100 ล้านบาท

กปว.ดิ้นหาเงินจ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากการขายกรมธรรม์โควิด-19แบบเจอ-จ่าย-จบ ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจนทำให้ต้องปิดกิจการไปแล้วทั้งสิ้น 4 บริษัท โดยกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) จะเข้ามาจัดการชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดกิจการ

รายงานข่าวระบุว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน คปภ. ระบุในแถลงการณ์คำสั่งปิดกิจการบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและบริษัทไทยประกันภัยว่า กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ปัจจุบันกองทุนฯมีสภาพคล่องอยู่ราว 5,000-7,000 ล้านบาท หากนับรวมสองบริษัทนี้ กับบริษัทที่ปิดกิจการไปแล้ว ที่ต้องดำเนินการจ่ายเงินให้เจ้าหนี้สัญญาประกันภัย ทางกองทุนฯอาจต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม

เรื่องนี้ กปว.ได้เตรียมแนวทางไว้แล้วคือ 1.บอร์ดบริหาร กปว.มีการออกประกาศหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน หรือออกตราสารการเงินอื่น 2.หารือกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

และ 3.กู้จากแหล่งเงินทุนโดยตรงที่เป็นธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารออมสิน หรือกู้เงินจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประกอบภัยจากรถ จำกัด อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้าว่ากองทุนประกันวินาศภัย ถึงการหาแหล่งเงินสนับสนุน