แห่เคลมประกันโควิดไม่แผ่ว ‘โอมิครอน’ ตัวเร่ง-มิ.ย.นี้ ส่อทะลุแสนล้าน

ประกันโควิด

“โอมิครอน” ดันยอดเคลมประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ไม่แผ่ว “ไทยรี” ย้ำถึงกลางปีสินไหมทะลุแสนล้านบาท เหตุเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำผู้ติดเชื้อพุ่งต่อเนื่อง ชี้เป็นบทเรียนสำคัญภาคธุรกิจประกันภัยไทย

ขณะที่ คปภ.เปิดตัวเลขเคลมล่าสุดถึงกลางเดือน มี.ค. 2565 ยอดเคลมพุ่งทะลุ 5 หมื่นล้านบาท แค่ครึ่งเดือนเพิ่มขึ้น 4,600 ล้านบาท จากสิ้นเดือน ก.พ. 2565

นายฉัตรชัย พยาฆรินทกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบัญชี การเงิน วิเคราะห์และควบคุมงบประมาณ และพัฒนากระบวนการและควบคุมภายใน บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE (ไทยรี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ฝ่ายวิจัยของบริษัทยังประมาณการว่า จนถึงเดือน มิ.ย. 2565 นี้ ค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 จะสูงถึง 110,000-180,000 ล้านบาท ซึ่งมาจากการประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบเป็นหลัก

ทั้งนี้ อ้างอิงจากสถิติการติดเชื้อในต่างประเทศ เช่น ยุโรป เป็นต้น รวมถึงยอดผู้ติดเชื้อในประเทศ รวมการตรวจ ATK ในปัจจุบันพุ่งสูงกว่าวันละ 30,000-40,000 ราย สูงกว่าช่วงการระบาด เมื่อไตรมาส 3/2564 ที่มียอดผู้ติดเชื้อราว 20,000-25,000 รายต่อวัน

โดยกรมธรรม์เจอจ่ายจบ มีอัตราการติดเชื้อของผู้มีประกันภัยโควิดในระดับสูงถึง 4.2% และยังคงให้ความคุ้มครองไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2565 จึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก

เนื่องจากธุรกิจประกันวินาศภัยอาจจะต้องแบกรับค่าสินไหมทดแทนที่ต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขสัญญา ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าค่าสินไหมที่เกิดขึ้นจากการระบาดในรอบที่ผ่าน ๆ มาหลายเท่าตัว

“พอเริ่มเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น อัตราการติดเชื้อย่อมสูงขึ้น ฉะนั้น จะอยู่ที่ตัวสัญญากรมธรรม์โควิดเจอจ่ายจบที่มีอยู่ หากยังไม่หมดความคุ้มครอง เคลมสินไหมจะสูงตามไปด้วย” นายฉัตรชัยกล่าว

อย่างไรก็ดี เคลมสินไหมค่ารักษาผู้ป่วยนอก (OPD) หรือค่ารักษาตัวในสถานพยาบาลผู้ป่วยใน (IPD) น่าจะน้อยลง ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะผู้ติดเชื้อโควิดในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเริ่มพักรักษาตัวที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องไปพักในโรงพยาบาล ใช้บริการดีลิเวอรี่ไปรับยาส่งให้ถึงบ้าน พักรักษาตัวแค่ 4-5 วัน ก็กลับมาทำงานตามปกติได้

“เจอจ่ายจบ” บทเรียนสำคัญธุรกิจประกันภัยไทย

นายฉัตรชัยกล่าวว่า กรมธรรม์ประกันภัยโควิด “เจอจ่ายจบ” ถือเป็นบทเรียนสำคัญ ที่ต่อไปเวลาธุรกิจประกันจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ อาจจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้ลึกซึ้ง และเพิ่มความระมัดระวังในการประเมินค่าสินไหมอย่างอนุรักษนิยมมากขึ้น และต้องพิจารณาการประกันภัยต่อด้วย เพื่อลดความเสี่ยง

ขณะที่นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ล่าสุด จนถึง ณ วันที่ 15 มี.ค. 2565 กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีเบี้ยประกันรับทั้งระบบอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท

จำนวนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความคุ้มครอง 42 ล้านคน ขณะที่ยอดเคลมสินไหมโควิดทั้งระบบอยู่ที่ 52,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,600 ล้านบาท หรือเพิ่ม 9.68% จากสิ้นเดือน ก.พ. 2565 ที่มียอดเคลม 47,500 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ตอนสิ้นเดือน ม.ค. 2565 ประกันโควิดมียอดเคลมทั้งสิ้น 43,300 ล้านบาท ขณะที่เดือน ก.พ. 2565 เพิ่มขึ้นอีกกว่า 4,200 ล้านบาท หรือ 9.69% และมาเพิ่มขึ้นอีก 9.68% ณ วันที่ 15 มี.ค. 2565

นายอรรถพล พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการเคลมประกันโควิดเดือน มี.ค.นี้ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน สู่ระดับ 8,000 ล้านบาทต่อเดือน จากก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค. อยู่ที่ระดับ 4,000 ล้านบาท

“ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2565 ต่อเนื่องถึงต้นเดือน ก.พ. 2565 อัตราการติดเชื้อโอมิครอนเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้เร็วกว่า ส่งผลให้มีเคลมโควิดเฉลี่ยในเดือน ม.ค. เข้ามาที่ 4,200 ล้านบาท จากนั้นปรับตัวขึ้นเป็น 5,200 ล้านบาท

ในช่วงสิ้นเดือน ก.พ. และต่อมาในเดือน มี.ค. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโอมิครอนเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการเคลมเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 8,000 ล้านบาท” นายอรรถพลกล่าว