ความมั่นคงทางอาหาร ไฮไลต์ผู้นำ APEC 21 ประเทศ

APEC

นับตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น นำมาสู่ความผันผวนในทุกมิติต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะด้านพลังงานที่หลายประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งก๊าซและน้ำมันจากทั้ง 2 ประเทศ ผลพวงดังกล่าวยังลากยาวถึง “วัตถุดิบในการผลิตอาหาร” ทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนไปด้วย

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีการค้าเอเปก ซึ่งจะมีเวทีพบสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council : ABAC) ในวันที่ 21-22 พ.ค. 2565 นี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะหยิบยกประเด็น “ความมั่นคงทางอาหาร” หารือกับทั้ง 21 ประเทศ เพื่อเพื่อแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ระดม 63 CEO แก้เศรษฐกิจโลก

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC) เกิดจากการระดมความคิดเห็นจาก CEO ของเหล่า member สมาชิก 63 คน ซึ่งเป็นผู้นำภาคเอกชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อนำประเด็นที่หารือไปเสนอและพูดคุยกันในเวที APEC Business Advisory Council 2022 (ABAC 2022 ครั้งที่ 4) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-16 พ.ย. 2565 โดยไทยเป็นเจ้าภาพ จากก่อนหน้าที่ได้มีการประชุมมาแล้ว 2 ครั้งที่สิงคโปร์ แคนาดา และครั้งที่ 3 จะมีขึ้นที่เวียดนามในเดือน ก.ค. 65

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (ABAC) กล่าวว่าในการประชุมครั้งนี้จำเป็นที่ต้องหารือกันภายใต้กรอบกลยุทธ์ 5 ด้าน คือ “การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” อย่างข้อตกลงการค้าเสรี FTA ต่าง ๆ ที่ยังค้างคาอยู่ ทั้งความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่บางประเทศยังไม่ให้สัตยาบัน แน่นอนว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นหากเราจะฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาและเดินหน้าไปพร้อม ๆ กัน บางกรอบของข้อตกลงที่ยังไม่ลงรายละเอียดหรือระบุไว้ อย่างกรอบที่ว่าด้วยการดึงเอาเรื่องดิจิทัลเข้ามา หรือแม้แต่กรอบของเขตเศรษฐกิจพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) ที่จะเชื่อมต่อกับอาเซียนอย่างไร

สุพันธุ์ มงคลสุธี

การเสริมสร้างศักยภาพด้าน “ดิจิทัล” คือ เรื่องที่ภาคธุรกิจไม่อาจมองข้าม สิ่งหนึ่ง คือ การดึงเอาดิจิทัลเข้ามาช่วย เพราะการถูกดิสรัปต์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันการส่งเสริมความพร้อมธุรกิจทุกขนาด ไม่ว่าจะสร้าง สนับสนุน พัฒนา มุ่งเป้าไปที่ไมโครเอสเอ็มอี “MSMEs” เพราะยอมรับว่านี่คือส่วนสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถทิ้งฟันเฟืองตัวหลักนี้ไปได้เลย

เรื่องของ “เศรษฐกิจการเงิน” ซึ่งแต่ละประเทศต่างมีนโยบายการเงินที่แตกต่าง มีผลทั้งเชิงบวกและทางลบต่อการค้า การลงทุน อัตราแลกเปลี่ยน แล้วแต่ละประเทศรับมือเรื่องนี้อย่างไร

และหัวใจสำคัญ คือ “ความยั่งยืน” ที่ได้เปิดประเด็นไว้ตั้งแต่ต้น “ความมั่นคงทางด้านอาหาร” ทุกบริบทตั้งแต่วัตถุดิบ ขยะจากอาหาร ภาคการเกษตร การเพาะปลูก ผลผลิตทุกอย่างเชื่อมโยงกับพลังงาน ด้วยในบางประเทศเมื่อขาดแคลนพลังงาน กลับทำให้การเพาะปลูกที่เป็นปัจจัยสำคัญของอาหารต้องหยุดลง

ไทยศูนย์กลางอาหาร

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 และผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก 2022 ไทย กล่าวว่า ความมั่นคงทางด้านอาหารคือเรื่องใหม่ ไทยถือว่าเป็นผู้นำในการส่งออกอาหารทั้งแบบสำเร็จรูป วัตถุดิบ ไม่รวมยางพาราและมันสำปะหลังที่สามารถใช้ต่อยอดผลิตพลังงานได้ โดยปี 2564 เป็นที่รู้กันว่าไทยอยู่ที่อันดับ 11 ของโลก เป็นลำดับที่ไม่น้อย ความได้เปรียบตรงนี้ เพราะไทยเองรู้บทบาทของตนเอง พัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า และเมื่อครั้งนี้โดนดิสรัปชั่น บวกกับการเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ อาหาร นี่จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะวางตัวเป็นจุดกลางนำเข้าและส่งออก

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์

เมื่อทั่วโลกต้องเผชิญกับสงครามทางเศรษฐกิจ การขาดแคลนวัตถุดิบอยู่ในขั้นรุนแรงมาก เวทีของเหล่า CEO ระดับโลกครานี้จำเป็นต้องลงรายละเอียด แต่อย่างไรก็ตาม การหารือดังกล่าว จะบรรลุผลเพียงใดอยู่ที่แต่ละประเทศมองเห็นปัญหาเดียวกัน และเปิดทางที่จะร่วมกันแก้วิกฤตนี้หรือไม่

ลุ้น “ไบเดน-ปูติน” ร่วมประชุม

อย่างไรก็ตาม เวทีนี้ถือเป็นเวทีที่ต้องจับตา การตอบรับสุดยอดผู้นำ 21 ประเทศ ว่าจะเข้าร่วมงานครั้งนี้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะ “สหรัฐและรัสเซีย” อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า “ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ จะเห็นความสำคัญและเดินทางมาร่วมการประชุม เช่นเดียวกับ “ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย

ไทยเองในฐานะเจ้าภาพแสดงจุดยืนถึงความเป็นกลางที่พร้อมจะต้อนรับผู้นำทั้ง 2 ประเทศ โดยไม่นำเรื่องการเมืองมาเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจ เพราะนั่นอาจจะเป็นปัญหาและทุกประเทศจะไม่สามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ได้เลย