ขายเครื่องประดับซากสัตว์น้ำออนไลน์ เสี่ยงผิดกฎหมาย

กรมประมง จับมือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า – Shopee LAZADA เร่งสร้างความเข้าใจ การขาย เครื่องมือประมง เครื่องประดับจากซากสัตว์น้ำ ให้ถูกกฎหมาย ห่วงผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถูกดำเนินคดีจากความไม่เข้าใจในกฎหมาย

วันที่ 13 มิถุนายน 2565 นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การประกาศขายโฆษณาเครื่องมือทำการประมงบางชนิด ได้แก่ หม้อน็อกปลา โพงพาง ลอบพับได้หรือไอ้โง่ และการประกาศขายสัตว์คุ้มครอง หรือ ซากของสัตว์คุ้มครอง เช่น หินปะการัง ปะการัง กัลปังหา หรือเต่า เป็นต้น บนแพลตฟอร์มของบริษัท Shopee และบริษัท ลาซาด้า จำกัด ยังไม่มีคำแนะนำที่ถูกต้องตามกฎหมายให้แก่ผู้บริโภค

ซึ่งหากผู้บริโภครายใดไม่ทราบข้อมูลและซื้อสินค้าดังกล่าวไปใช้ในแหล่งน้ำสาธารณะ หรือมีไว้ในครอบครองสินค้าเหล่านั้น อาจส่งผลให้ผู้ซื้อสินค้าถูกจับ ถูกปรับ และถูกดำเนินคดีได้ และที่สำคัญคือกรณีดังกล่าวมีอัตราโทษค่อนข้างรุนแรง

โดยข้อกฎหมายและบทกำหนดโทษ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายออนไลน์ในกรณีดังกล่าว มีดังนี้

1. พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2560 : ได้กำหนดเครื่องมือทำการประมงที่สามารถค้าขายได้ แต่ห้ามใช้ทำการประมงในแหล่งน้ำสาธารณะหรือพื้นที่ส่วนบุคคลที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำสาธารณะโดยเด็ดขาด เนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวส่งผลต่อการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรงจนถึงขั้นสูญพันธุ์ และยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการนำลูกพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจมาใช้ก่อนวัยอันควร ได้แก่ เครื่องมือน็อกปลา (หม้อน็อกปลา)

ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไปในน้ำ ทำอันตรายกับสัตว์น้ำทุกชนิดโดยเฉพาะแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่อยู่ในช่วงมีไข่และลูกพันธุ์สัตว์น้ำให้ตายหรือพิการ ซึ่งก่อทำให้เกิดการสูญเสีย และทำลายวงจรชีวิตสัตว์น้ำ

โดยถือว่าเป็นการทำลายพันธ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรง ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2 แสน ถึง 1 ล้านบาท หรือ ปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตวน้ำที่ได้จากการทำประมงส่วน โพงพาง รั้วไซมาน ลี่ หรือเครื่องมือที่คล้ายคลึงกัน จัดเป็นเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูงในการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยเฉพาะขนาดเล็กกว่าขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์ ซึ่งถือเป็นการตัดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ได้อีก

รวมทั้งก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการนำสัตว์มาใช้ก่อนวัยอันควร ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 1 – 5 แสนบาท หรือ ปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง นอกจากนี้ ยังมี ลอบพับหรือไอ้โง่ ซึ่งเครื่องมือประมงชนิดนี้ มีประสิทธิภาพสูง

โดยสัตว์น้ำที่จับได้ ร้อยละ 80 – 100 มีขนาดต่ำกว่าขนาดแรกเริ่มสืบพันธุ์ ซึ่งถือเป็นการตัดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถเติบโตแพร่ขยายพันธุ์ได้อีก รวมทั้งก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการนำสัตว์น้ำมาใช้ก่อนวัยอันควร ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 1 หมื่น – 1 แสนบาท หรือ ปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงเช่นกัน

​2. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 : ได้กำหนดว่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ซากสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์คุ้มครอง ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองหรือทำการค้าขาย หรือนำเข้าส่งออกโดยเด็ดขาด ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีรายละเอียด ดังนี้

2.1 ห้ามค้า ห้ามครอบครองโดยเด็ดขาด หากจะมีการนำเข้า-ส่งออกต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงเท่านั้น ได้แก่ ปะการังทุกชนิด กัลปังหาทุกชนิด ดอกไม้ทะเลทุกชนิด (ทั้งที่ยังมีชีวิต หรือเป็นซากของปะการัง) และหัวแหวนปลาโรนิน แหวนกระเบนท้องน้ำ กำไลกัลปังหา เขี้ยวพะยูน กระดองเต่า เต่า เปลือกหอยบางชนิด เช่น หอยมือเสือ หอยแตรสังข์

โดยผู้ที่ค้าสัตว์ป่าสงวนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 15 ปี หรือปรับตั้งแต่ 3 แสน ถึง 1.5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ที่ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้มีไว้ในครอบครองสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.2 สัตว์น้ำประเภทค้า-ขาย-ส่งออกได้ แต่ต้องมีใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่า และมีการออกหนังสือกำกับการจำหน่ายแก่ผู้ซื้อ ส่วนผู้ซื้อต้องขอรับใบอนุญาตตามกฎหมาย ได้แก่ กระเป๋าหนังจระเข้ และตะพาบน้ำ โดยผู้ที่ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

​”จึงรู้สึกเป็นห่วงผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์จะถูกดำเนินคดีจากความไม่เข้าใจในกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมากรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวเป็นจำนวนมากเนื่องจากสามารถเลือกซื้อจากร้านค้าออนไลน์ได้ง่าย และเพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นย้ำให้กรมประมงดำเนินมาตรการอนุรักษ์เพื่อรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนและให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมง และมอบนโยบายการปฏิบัติงานยึดหลัก 3 ป. คือ การป้องกัน การป้องปราม และการปราบปราม”

พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญด้วย ดังนั้น เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 กรมประมง จึงได้เชิญ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท Shopee และ บริษัท LAZADA และบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือเพื่อขอความร่วมมือจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ ให้ช่วยประชาสัมพันธ์และแจ้งกับร้านค้าปลีกหรือโรงงานผู้ผลิตที่ขายสินค้าประมงต้องมีคำอธิบายหรือคำแนะนำให้กับผู้บริโภคเพื่อไม่ให้มีการกระทำความผิดกฎหมาย ป้องกันการถูกจับกุมดำเนินคดีจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้บริโภค

อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรงอีกด้วย ซึ่งทุกแฟลตฟอร์มตอบรับและพร้อมให้กับร่วมมือกับกรมประมง โดยจะเร่งดำเนินการสื่อสารสร้างความเข้าใจในเงื่อนไขดังกล่าวให้ และในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจฯ จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ ต่อไป

​กรมประมง จึงขอขอบคุณทุกแพลตฟอร์มที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐที่จะช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ค้าและผู้บริโภค และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถช่วยลดผลคดีจับกุมผู้กระทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยลดการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ ก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรและอาชีพการทำประมงด้วย


ปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยมีการซื้อขายในรูปแบบ e-commerce หรือ ขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากร้านค้าปลีกหรือโรงงานผู้ผลิตสามารถขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงผ่านช่องทางการขายออนไลน์ (e-marketplace) อาทิ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) บริษัท ลาซาด้า จำกัด เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้มีร้านค้าปลีกหรือโรงงานผู้ผลิตบางรายนำสินค้าประมงที่ผิดกฎหมายประมงและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น หม้อน็อกปลา ลอบพับได้หรือไอ้โง่ โพงพาง ปะการัง กัลปังหา หรือกระดองเต่า เป็นต้น มาขายผ่านช่องทางการขายออนไลน์บนทั้ง 2 แพลตฟอร์ม