กฟผ.กางแผนรุกธุรกิจ EV ลุยลงทุนสถานีชาร์จ “รถบรรทุก”

วฤต รัตนชื่น

วิกฤตพลังงาน ราคาน้ำมันปรับขึ้นรายวัน กองทุนน้ำมันฯติดลบแสนล้าน หลายคนเริ่มผวาว่าไทยจะขาดแคลนพลังงาน กลายเป็นแรงหนุนให้ผู้คนเริ่มหันมามองหาการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ยังช่วยชาติในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วฤต รัตนชื่น” ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงแผนขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ในภาพยุทธศาสตร์ triple S (source-sink-support) ของ กฟผ.ที่มีเป้าหมายสู่ EGAT carbon neutrality ในปี 2050

กางแผนธุรกิจอีวี

“กฟผ.ต้องทำเรื่องอีวี เพราะมันคือจิ๊กซอว์ในภาพใหญ่ทั้งหมดจากที่มียุทธศาสตร์ใหญ่ triple S เราคิดว่าทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้า คาร์บอนไดออกไซด์หายไป 1 ใน 3 เริ่มแรกเราก็ไปดูว่าเพนพอยต์ผู้ใช้อีวีคืออะไร พยายามทำเป็นต้นแบบ เพื่อสนับสนุนให้เกิด ecosystem ให้รู้ว่าสามารถทำได้ เราวางโมเดลธุรกิจ แต่ว่าไม่ได้ไปฟิกซ์ เพราะถ้าฟิกซ์จะทำให้ ecosystem ไม่เกิดขึ้น

เราจึงพยายามลดข้อจำกัดให้น้อยที่สุด พันธมิตรของเราเปิดกว้าง ทั้งคนใช้รถ แลนด์ลอร์ด ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ เราก็จัด customize solution ให้เหมาะสม เป้าหมายสูงสุดของเรา คือ ทำให้คนหันมาใช้ ตอบโจทย์ เป้าหมาย carbon neutrality”

โดยเรื่องแรกดู คือ รถ ในธุรกิจนี้มีผู้ทำเยอะแล้ว เราไม่ได้เก่ง จึงมองเรื่องรถดัดแปลง โดยไปทำวิจัยร่วมกับ สวทช. และเปิดอบรมช่าง 2-3 รุ่นแล้ว เพื่อให้มีองค์ความรู้ในการดัดแปลงรถเก่าที่ยังต้องการรักษาตัวถังไว้

เรื่องที่ 2 สถานีชาร์จ เราคุ้นเคยกับผลิตไฟฟ้า และถ้าไม่มีสถานีชาร์จคนก็มองว่าเดินทางแล้วไม่สามารถที่จะชาร์จได้ทั่ว กฟผ.จึงวางรูปแบบการติดตั้งสถานีชาร์จและหัวชาร์จให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเริ่มแรกทำสถานีชาร์จ EleX กระจายทั่วประเทศ ตามพฤติกรรมคนขับรถ 2 ชั่วโมงต้องหยุดพักก็หัวชาร์จ 120 กิโลวัตต์ ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงเติมไฟ 10-80% หรือพฤติกรรมคนเข้าห้าง shopping ทานข้าว 2-3 ชั่วโมง ก็ติดหัวชาร์จ 22 กิโลวัตต์แบบ AC จะใช้เวลาชาร์จ 2-3 ชั่วโมงพอดี หรือล่าสุดติดตั้งหัวชาร์จที่อาคารจอดรถ รฟม. ขนาด 7 กิโลวัตต์ เพราะคนมาจอดรถเฉลี่ย 9 ชั่วโมงเพื่อขึ้นรถไฟเข้าในเมือง

ขยายสู่กลุ่มรถบรรทุก

กลุ่มที่ 3 พื้นที่ใหม่ที่กำลังเตรียมทำ คือ รถบรรทุก การจะให้รถใหญ่เปลี่ยนมาใช้อีวีก็ต้องทำจุดชาร์จเฉพาะ ตอนนี้มีผู้มาหารือแล้ว 2-3 ราย มีทั้งกลุ่มขนส่ง เจ้าของฟลีตรถ และบริษัทต่อรถ โจทย์คือ ให้เขากลับไปคิดว่าจะทำอย่างไรกับที่ดินก่อน

“การทำสถานีชาร์จรถบรรทุกควรต้องเป็นพื้นที่ติดถนนใหญ่ เป็นพื้นที่นอกปั๊ม การติดหัวชาร์จต้องใช้ที่แรงและต้องมีไฟต่อเนื่อง ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องไฟเป็นหลัก เพราะการชาร์จรถบรรทุกเป็นเรื่องเชิงพาณิชย์ต้องวางพื้นที่เหมาะสม และจุดชาร์จรถบรรทุกต้องประเมินระยะมั่นใจ เช่น แบตเตอรี่ 500 ระยะมั่นใจ 200 กม. เช่น กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ หรือสมุทรปราการ-ราชบุรี ต้องมีจุดชาร์จ และที่สำคัญต้องเลือกพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับสถานีไฟฟ้า เพื่อไฟเสถียร ส่วนการอำนวยความสะดวกอาจมีที่ร่มพักรอ ห้องน้ำ แตกต่างจากกลุ่มรถทัวร์ยังดูแลผู้โดยสารจึงเหมาะที่จะใช้ปั๊ม”

ค่าไฟรถบรรทุกอีวี

ปกติใช้เรตแบบ low priority หมายความว่า เรตที่ไม่สูงมาก แต่ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินเมื่อไหร่เขาก็จะตัดไฟเป็นอันดับแรก เรตนี้จึงทำไม่ได้กับรถบรรทุก เพราะผู้ขนส่งรถบรรทุกต้องมีระยะเวลาการขนส่งสินค้าให้ตรงเวลา ไม่เช่นนั้นจะมีค่าใช้จ่าย ถ้าเป็นฟลีตก็มีการคุยกันเหมือนกันว่าเดือนนี้จ่ายเท่านี้ เพื่อทำให้ผู้ใช้บริการได้มั่นใจว่ามีไฟใช้แน่นอน ส่วนที่เหลือคุณค่อยออกเพิ่ม ซึ่งอาจมีโมเดลแบบนี้ หรือคุณอาจจะมาร่วมลงทุนกับเราก็ได้

พวกนี้เขาจะต้องคำนวณความคุ้มค่าของค่าขนส่ง เท่าที่คุยตอนนี้มีมุมที่คุ้มแต่ไม่ใช่ทุกราย รายที่คุ้ม มีอยู่ 2 แบบ คือ ฟิกรูต เพราะจะต้องวางสถานี เพื่อจะทำ utilization ให้ส่วนหนึ่ง และรายที่โดนผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าคู่ค้าให้ลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิต ซึ่งเขาจะมีต้นทุนก้อนหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา ถ้าหันมาใช้ไฟฟ้าจะทำให้เขาสามารถลดผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มเข้ามาได้ บริษัทส่งออกใหญ่ ๆ จึงเริ่มใช้แล้ว

จ่อขยับค่าไฟอีวี

ตอนนี้ผู้ทำสถานีส่วนใหญ่ขายไฟไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ตามกฎหมาย ไม่ต้องขออนุญาตจาก กกพ. แค่ใช้วิธีจดแจ้ง และสามารถเซตเรตค่าไฟได้เลย แต่ละรายไม่เหมือนกัน เช่น กฟผ. ค่าไฟ 7.50 บาท/หน่วย เป็นไฮเวย์ และ 8.50 ในพื้นที่ ห้างร้านอาหาร คอมมิวนิตี้มอลล์ แลนด์ลอร์ด

ซึ่งแนวโน้มค่าไฟจะขยับตามค่าเอฟที แต่ไม่ว่าค่าไฟจะสูงขึ้นเท่าไร คิดต้นทุนเทียบกับน้ำมันแล้ว อีวีก็ถูกกว่าแน่นอน เช่น ขับรถ 1 กม. น้ำมันต้นทุน 3 บาท รถอีวีแค่ 1.30-1.40 บาท และยิ่งไปเติมที่บ้านค่าไฟ 0.80 บาท ถ้าบ้านไปขอใช้ไฟเรต TOU ชาร์จกลางคืนเหลือแค่ 0.50 บาท

ถ้าวิ่งปีละ 20,000 กิโลเมตรเฉลี่ยเติมอีวี 1 บาท/กม. ส่วนน้ำมัน 3 บาท/กม. เท่ากับว่าเราประหยัดไป 2 บาท/กม. ถ้าวิ่งปีละ 20,000 กม. ประหยัดเงินไป 40,000 บาท ถ้าแบตเตอรี่อายุ 10 ปี เราประหยัดไป 400,000 บาท เปลี่ยนแบตเตอรี่ราคาก็ลดลงเรื่อย ๆ

ผนึกพันธมิตรวางระบบ

นอกจากนี้ เรายังพัฒนาแพลตฟอร์มอำนวยความสะดวกผู้ใช้อีวี คือ แพลตฟอร์ม EleXa สำหรับรายย่อย โรงแรม สนามกอล์ฟ มหาวิทยาลัย อยากจะติดตั้งหัวชาร์จ อยากเก็บค่าบริการไปจ่ายค่าไฟ ถ้าไปทำแพลตฟอร์มเองค่าใช้จ่ายสูง แค่ซับสคริปชั่นเราเป็นรายเดือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายและง่าย

ล่าสุดที่บอร์ดอีวีแห่งชาติให้ กฟผ.เป็นโฟคอลพอยต์ร่วมกับ 2 การไฟฟ้า บมจ.ปตท. และ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ พัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกัน เฟสแรกช่วยให้ผู้ใช้บริการอีวี ให้เห็นแผนที่สถานีชาร์จทั้งหมดแบบเรียลไทม์ จากนั้นก็จะลิงก์ไปยังแอปผู้ให้บริการแต่ละราย คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในเดือนสิงหาคมนี้

เฟสต่อไปจะคุยกันว่าทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มนี้ เหมือนเอทีเอ็มเชื่อมโยงระบบการชำระค่าใช้จ่ายทุกแบงก์ ค่อนข้างละเอียดมาก เพราะมีเรื่องเงิน เรื่องค่าธรรมเนียมข้ามแบงก์ แต่ละคนมีวิธีการคิดเงินไม่เหมือนกัน เช่น กฟผ. เป็นโพสต์เพดเติมไฟก่อนจ่ายทีหลัง จะทำอย่างไร รวมถึงการวางโปรโมชั่นที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งตั้งใจจะคุยกันให้จบปีนี้ แล้วปีหน้าค่อยเริ่มใช้

งบฯลงทุน-เป้าหมาย

งบฯการลงทุนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทหัวที่ใช้ ตอนนี้มีแบบ AC และ DC ระดับกำลังไฟ และประเทศผู้ผลิต เช่น จีนจะถูกกว่ายุโรป ถ้าลงทุนรวมหมดก็มีหลักแสน สูงไปจนถึง 3-5 ล้านบาท ส่วนราคาหัวชาร์จมีตั้งแต่ 40,000-50,000 บาทจนถึง 1.4-1.5 ล้านบาท กฟผ.มีเป้าหมายปีนี้ 100 สถานีเฉพาะ กฟผ.ทำเอง ส่วนร่วมกับพันธมิตรอีก 20-30 สถานี ปีหน้าจะเน้นขยายเฉพาะกลุ่มที่ต้องการใช้ คาดว่าจะขยาย 130-140 สถานี รวมกับพันธมิตรอีกเป็น 160-170 แห่ง

“วิกฤตพลังงานมาแบบนี้ทำให้คนหันเริ่มมาให้ความสนใจอีวีเร็วขึ้นอยู่แล้ว ถึงไม่ปรับเป้าหมาย 30@30 แต่ตอนนี้รถยังมีปัญหาซัพพลายช้า ชิปขาด กฟผ.ทำตามแผน คาดว่าจะใช้งบประมาณและยังคงร้อยล้าน เราไม่ได้ต้องเป็นเบอร์หนึ่งต้องใหญ่ที่สุด แต่เราเป็นคะตะไลต์ ถ้าคิดเป็นมาร์จิ้นย้อนกลับมาทุกคนก็ยังขาดทุน แต่ทุกคนอยู่ใน value chain นี้ เช่น ทำโรงงานแบต บางคนขายรถ บางคนถ้าไม่ทำพื้นที่จะถูกดิสรัปต์คนจะไม่เข้าไปใช้บริการ แต่ละคนก็จะมีหน้าตักไม่เหมือนกัน ซึ่ง กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟ ไม่ว่าคุณจะเติมไฟของใคร ก็ใช้ไฟ กฟผ.ทั้งนั้น”