อีสานเกตเวย์เชื่อมรถไฟจีน-ลาว สร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทย

อีสานเกตเวย์

วิกฤตอาหารโลกกำลังรุนแรงไปทั่วโลก หลายประเทศตั้งรับปัญหาการขาดแคลนอาหารและราคาอาหารที่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่วิกฤตนี้กลายเป็นโอกาสสำหรับ “ประเทศไทย” ในฐานะครัวของโลก ในงานเสวนา Next Step เกษตรกรไทย : ก้าวต่อไปธุรกิจเกษตรรับมืออย่างไร หลังโควิดสู่โรคประจำถิ่น พูดในหัวข้อ Next Normal : ธุรกิจเกษตรต้องปรับตัวอย่างไร หลังโควิดสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งจัดโดย มติชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาว่า กระทรวงเกษตรมีเป้าหมายยกระดับประเทศไทยให้เป็น ผู้ส่งออกอาหารติด top 10 ของโลก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศมหาอำนาจของการผลิตและส่งออกอาหาร โดยที่ผ่านมาธุรกิจการเกษตรในประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพตั้งแต่ก่อนจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับที่ 14 ของโลก ภายหลังเกิดสถานการณ์ของโควิด-19 ไทยขยับมาอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก

“ความต้องการอาหารและขาดแคลนอาหารในระยะสั้นและระยะยาว จากวิกฤตสำคัญ เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถสรุปว่าจะจบเมื่อไหร่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน การเพิ่มประชากรของโลกส่งผลต่อความต้องการอาหาร และปัญหาของภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบการผลิตสินค้า ผลผลิตการเกษตร ปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารตลอดซัพพลายเชนโลก แต่ประเทศไทยซึ่งมีจุดแข็งในด้านการผลิตสินค้าเกษตร และมีความมั่นคงทางด้านอาหารได้ 100%”

ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ที่จะยกระดับภาคเกษตรไปสู่การเป็นท็อป 10 อาหารโลก โดยมุ่งใช้ตลาดนำการผลิต นำเทคโนโลยีเกษตร 4.0 มาช่วย การขับเคลื่อนมาตรการ 3S ในภาคเกษตร เพื่อสร้างเกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน ทำงานเชิงบูรณาการทุกภาคส่วน และมุ่งพัฒนากสิกรรมยั่งยืน เพื่อเป้าหมายดูแลประชาชนภายในประเทศและประชากรทั่วโลก

เร่งเชื่อมรถไฟจีน-ลาว

ขณะที่ นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในหัวข้อ Next Scenario : อีสานเกตเวย์ “รถไฟจีน-ลาว” โอกาสและความท้าทายที่เกษตรกรเผชิญหลังยุคโควิด-19 ว่า ตั้งแต่ที่มีการเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาวได้ประมาณ 7 เดือน จะเห็นว่าสินค้าที่นำเข้าจะมีปริมาณมากกว่าที่สินค้าไทยส่งออกไป ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นทุเรียน ยังไม่มีสินค้าอื่น ดังนั้น เห็นว่าไทยควรเร่งส่งออกสินค้าอื่นของไทยโดยใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวให้มากขึ้น

“หลังเปิดรถไฟจีน-ลาวจะเห็นว่าไทยนำเข้าแอปเปิล องุ่น มะนาว ผัก ผลไม้จากจีน โดยใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว หากมองในสินค้าที่ไทยไม่ได้ผลิตเองยังพอรับได้ แต่มีกลุ่มสินค้าที่ไทยสามารถผลิตเองได้ยังต้องนำเข้า เช่น หอม กระเทียม ผัก ส้ม หากไทยยังไม่ยกระดับและผลิต เชื่อว่าจะทะลักเข้าไทย 100% ได้ในอนาคต”

สำหรับแนวทางในการสร้างโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวนั้น ไทยควรเร่งเชื่อมต่อรถไฟจีน-ลาว โดยเฉพาะจังหวัดสำคัญ เช่น หนองคาย น่าน อุตรดิตถ์ เชียงราย และเลย เพื่อเชื่อมโยงด้านการขนส่ง ที่สำคัญควรเร่งสร้างสะพานแห่งที่ 2 ให้เสร็จภายใน 1 ปี จากที่ปัจจุบันเรื่องนี้ยังมีความล่าช้ามาก

หากดำเนินการจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งถึง 30% และหากสามารถเชื่อมโยงถึงส่วนกลางได้จะทำให้การขนส่งลดต้นทุนไปถึง 60% ในการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางดังกล่าวเพื่อส่งไปยังจีน และควรกำหนดให้มีหน่วยงานกลางเป็นศูนย์กลางในการให้บริการและดูแลจัดการด้านขนส่งด้วย

ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

นางสาวรัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ จ.สระแก้ว สมาร์ทฟาร์มเมอร์ทำเกษตรผสมผสาน-ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผลผลิตและการแปรรูป ภายใต้แบรนด์ไร่ดีต่อใจ กล่าวระหว่างเสวนาหัวข้อ Next Trends : เกษตรติดเทรนด์ ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มเรามีเครือข่ายประมาณ 600 ไร่

ผลผลิตที่เพาะปลูกสำคัญ เช่น มะม่วง มะยงชิด กระท้อน จากอดีตที่ทำการเกษตรแบบต่างคนต่างทำ ทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ไม่สามารถตอบสนองลูกค้าได้ แต่ปัจจุบันการรวมกลุ่มเกษตรกรช่วยให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถเพิ่มผลผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการตลาด แปรรูป และขยายช่องทางการขายมากขึ้น แม้ว่าปัญหาโควิด-19 ที่เข้ามากระทบ

นายถวิลย์ อินต๊ะขัน ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจ Integration บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า ทางเจียไต๋ซึ่งดำเนินธุรกิจมายาวนาน ได้มีส่วนช่วยเกษตรกรในการรับซื้อ และส่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกร ช่วยวางแผนในการผลิตและเพาะปลูก การบริหารจัดการสินค้า และแนะนำการเพาะปลูกสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างมาตรฐานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเกษตรกรรม เพราะจะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและแข่งขันได้ พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตและยกระดับให้เป็นสินค้าจีไอ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ หากจะแข่งขันในด้านต้นทุนและราคาคงจะสู้กับต่างประเทศไม่ได้


นายปวิตพล ไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษากองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานของภาครัฐได้เข้าไปอบรม สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าและแนะนำช่องทางการขายทั้งในรูปแบบปกติ ออนไลน์ เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อีกทั้งยังส่งเสริมในการสร้างมาตรฐานสินค้าและคุณภาพ เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในอนาคต