“พาณิชย์” ประกาศขึ้นทะเบียน GI “ผ้าไหมปักธงชัย” ของดีเมืองโคราช สินค้า GI รายการที่ 9 ของจังหวัด สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าท้องถิ่นและสร้างรายได้ให้ชุมชนในพื้นที่อำเภอปักธงชัย กว่า 40 ล้านบาทต่อปี พร้อมเดินหน้าสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้า GI ทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์
วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผ้าไหมปักธงชัย สินค้าท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง
โดยการขึ้นทะเบียน GI เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นของไทย นำมาสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน จากการนำจุดแข็งและความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท้องถิ่นมาสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
โดยปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ในจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งหมด 9 สินค้า ได้แก่ กาแฟดงมะไฟ ไวน์เขาใหญ่ ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ กาแฟวังน้ำเขียว เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน มะขามเทศเพชรโนนไทย ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน และผ้าไหมปักธงชัย และอยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียน GI เพิ่มอีก 2 สินค้า ได้แก่ ผ้าไหมคึมมะอุบัวลาย และน้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่
สำหรับคุณภาพและคุณลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของ “ผ้าไหมปักธงชัย” หรือ (Pak Thong Chai Thai Silk หรือ Pha Mai Pak Thong Chai) เป็นเนื้อผ้าหนาแน่น มีความมันวาว สีคงทน ไม่ตก ผืนผ้าไม่มีตำหนิ โดยเป็นการทอผ้าไหมตามกรรมวิธีที่ประณีตอันเป็นมรดกทางหัตถกรรมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และผลิต ในพื้นที่อำเภอปักธงชัยของจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมได้ดำเนินการขึ้นทะเบียน GI ครอบคลุม 77 จังหวัด ทั่วภูมิภาคของประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการคุ้มครองสินค้าชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน ไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคน ในชุมชนท้องถิ่นให้ดีขึ้น และเพื่อให้สินค้า GI เป็นสินค้าคุณภาพระดับพรีเมี่ยม ขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ผลักดันให้จังหวัดให้ความสำคัญในการจัดทำระบบควบคุมมาตรฐาน สินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า GI และสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้า GI ที่มีคุณภาพทั้งในและต่างประเทศทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ สร้างรายได้ให้กับชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน