ซีอีโอ ปตท. ดันไทยฮับ LNG ลุยนำเข้า 9 ล้านตัน/ปี ในปี’73

พลังงาน-ปตท.-ปตท.สผ.-ดีเอ็มจี จัดใหญ่ ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย ดึงรัฐ-เอกชน 50 ชาติ โชว์นวัตกรรมพลังงานสะอาด-ยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ ซีอีโอ ปตท.ดันไทยฮับ LNG อาเซียน ลุยนำเข้า 9 ล้านตัน/ปี ตามเป้า 2573

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังจัดงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2022 ว่า ชัดเจนว่าขณะนี้ทุกประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านพลังงานควบคู่ไปกับการระบาดใหญ่ของโควิดและสถานการณ์วิกฤตพลังงานของโลกในปัจจุบัน

โดยภายในการประชุมสุดยอดผู้นำ COP26 Leader’s Summit ประเทศไทยได้ประกาศตั้งเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเดินหน้ากำหนด “แผนพลังงานแห่งชาติ 2565” เพื่อมุ่งสู่อนาคตแห่งพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดรักษ์โลก พร้อมกับความมั่นคงและการแข่งขันด้านพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยดำเนินงานตามนโยบาย 4D

ประกอบด้วย Decarbonization (การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์) Decentralization (การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว และความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า) Deregulation (การเปิดเสรีภาพพลังงานเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และการแข่งขันอย่างเป็นธรรม) และ Digitalization (การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน)

“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญระดับโลก โดยคณะกรรมการนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้อนุมัติเป้าหมายในการส่งเสริมยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle หรือ ZEV) ซึ่งเรียกว่านโยบาย 30@30 เพื่อส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ถึงร้อยละ 30 ของการผลิตทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573

ซึ่งภายใต้นโยบายดังกล่าว มีมาตรการสนับสนุนและข้อเสนอจูงใจหลายประการในการกระตุ้นตลาด EV อาทิ การสนับสนุนการลงทุนสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การกำหนดมาตรฐานและข้อบังคับสำหรับการขอใบอนุญาต และการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูล EV

ในขณะที่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงงานให้มีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 40 จิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2573 รวมถึงวางแผนติดตั้งสถานีชาร์จแบบ Fast Charging ให้ได้ 12,000 ยูนิตทั่วประเทศ” นางเปรมฤทัยกล่าว

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาดนั้นเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างกำลังผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติด้านพลังงานในทิศทางเดียวกัน โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนเตรียมมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2593-2613

ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจด้านพลังงานในหลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยให้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการใช้พลังงานเดิม ๆ ที่เรียกว่าไฮโดรคาร์บอน ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ก็จะต้องเปลี่ยนไปในอนาคต ปตท.ต้องมีการปรับตัว

โดยหนึ่งในแผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และพลังงานแห่งอนาคต ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ใหม่ขององค์กร “Powering Life with Future Energy and Beyond” คือการเดินหน้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การซื้อขาย LNG ภูมิภาคอาเซียน โดยตั้งเป้าเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ LNG เป็น 9 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนั้น พลังงานแบ่งเป็น 3 ตัวหลัก คือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ โดยก๊าซธรรมชาติถือเป็นฟอสซิลที่สะอาดที่สุด ดังนั้น ปตท.มองว่าก๊าซธรรมชาติจะยังมีอนาคตที่ยังมีความต้องการใช้อีกยาวนาน ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมาก ดังนั้นการที่ ปตท.มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็น LNG ฮับ มาจากปัจจัย

1.ประเทศไทยมีความต้องการใช้ต่อปีที่สูง และ 2.ปตท.มีท่ารับถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม ซึ่งปีที่ผ่านมา ปตท.ได้นำ LNG เข้ามาในประเทศไทย และส่งออกไปขายยังประเทศญี่ปุ่น หรืออีกรูปแบบคือนำเข้ามาเก็บในถังที่เล็กลงแล้วส่งออกไปขายประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน กัมพูชา และลาว ถือเป็นความตั้งใจให้ประเทศไทยเป็นฮับของ LNG เพราะลาว และกัมพูชา ที่ไม่มีท่ารับจัดเก็บ LNG เหมือนประเทศไทย

สำหรับหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นฮับ LNG ประกอบด้วย 1.ความต้องการใช้งานเป็นพื้นฐาน ดังนั้น ปตท.สามารถใช้ตัวความต้องการนี้ หารือกับผู้ค้าเพื่อหาแหล่งซัพพลายที่จะซื้อเข้ามาในประเทศ 2.โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นคลังจัดเก็บก๊าซ LNG ที่พร้อม ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะ ท่ารับก็ต้องเป็นท่ารับเฉพาะ ถือเป็นจุดแข็งซึ่ง ปตท.มีศักยภาพการรับ LNG ถึง 19 ล้านตันต่อปี ใหญ่ที่สุดของอาเซียน

“ความต้องการใช้ LNG ในประเทศไทยปีนี้อยู่ที่ 8 ล้านตัน โตกว่าปี 2564 ที่มีปริมาณการใช้ที่ 5.9 ล้านตัน ดังนั้นการจะเป็นฮับ คือการซื้อมาแล้วขายไป หรือซื้อมาแล้วเก็บไว้ขายในช่วงที่ราคาสูง ทั้งนี้ ปตท.จะให้ความสำคัญการใช้งานของประเทศก่อน ส่วนที่เหลือก็สามารถนำเอาไปส่งออกได้ และด้วยกำลังการจัดเก็บเรามีมาก ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจอีกด้วย”

นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานทดแทน ยังมีส่วนสถานีชาร์จอีวี จะมีทั้งในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น และนอกสถานีบริการน้ำมัน ที่ดำเนินการโดย บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ และที่ตั้งเป้าหมายในสถานีบริการให้มี 500 แห่งภายในสิ้นปี 2565

อีกทั้งยังมีศูนย์ซ่อมบำรุงฟิต ออโต้ ของโออาร์ สามารถให้บริการหลังการขายได้ครบวงจร และล่าสุดยังได้พัฒนาธุรกิจไฟฟ้า EV ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมมือ อรุณ พลัส กับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ในการตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) เพื่อเดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยจะขยายตลาดและสร้างฐานการผลิต EV ในไทย เริ่มการผลิตรถอีวีในช่วงต้นปี 2567

ทั้งนี้ ปตท.ยังคงตั้งเป้าลงทุนปี 2030 ของธุรกิจใหม่ในสัดส่วน 30% ส่วนการสนับสนุนพลังงานยั่งยืนในประเทศไทย อย่างแรกที่คำนึงคือความมั่นคง ต้องให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ดังนั้น บทบาทที่ ปตท.ทำคือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับพลังงานทุกชนิด อาทิ โรงกลั่น ท่ารับ LNG การลงทุนวางท่อก๊าซ การหาแหล่งก๊าซรอบบ้าน และวางระบบท่อก๊าซให้ครอบคลุม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

นายอรรถพลกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางเมียนมามีคำสั่งให้บริษัทต่าง ๆ รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่มีเงินกู้ต่างประเทศ ระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศชั่วคราว เพื่อต้องการรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศนั้น “ตอนนี้ ธุรกิจกลุ่ม ปตท.ยังไม่กระทบอะไร”

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 อีกสิ่งสำคัญคือ การดำเนินโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS)

ทั้งนี้ ปตท.สผ.อยู่ระหว่างการออกแบบวิศวกรรมโครงการแหล่งอาทิตย์ เพื่อที่จะใช้แท่นเก่าที่ผลิตก๊าซมาเป็นหลุมเพื่ออัดก๊าซคาร์บอน (CO2) ลงไปเก็บไว้ในหลุม ถือว่ามีต้นทุนเพราะท่อที่วางจะเป็นท่อที่พิเศษ ที่จะแยกจากโครงการอาทิตย์กลับไปเก็บในชั้นที่เราผลิตไปแล้ว ตั้งเป้าเฟสแรกที่ 4-5 หลุม และติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ เช่น เกิดการรั่วซึมหรือไม่ ซึ่ง CO2 จะไม่มีอันตรายแม้จะรั่วซึม เพราะไม่ใช่แก๊สที่เป็นพิษ โดยตั้งเป้ากักเก็บแหล่งอาทิตย์ที่ 1 ล้านตันต่อปี ส่วนเงินลงทุนโครงการ CCS วางไว้ 5 ปี (2565-2569) ที่ 300 ล้านดอลลาร์

สำหรับโครงการต่อไปคือโครงการสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี โดยบริษัทญี่ปุ่นให้ความสนใจจะมาร่วมลงทุนเพื่อนำ CO2 จากแหล่งอื่น ๆ จากโรงผลิตไฟฟ้า โรงแยกกระดาษ มาเปลี่ยนเป็นของเหลวนำไปเก็บในชั้นหลุมที่ปตท.สผ.ขุดเจาะมา แต่ต้องวางท่อใหม่

ซี่งขณะนี้ ปตท.สผ.ได้ลงนามความร่วมมือ MOU บริษัท อินเป็กซ์ คอร์ปอเรชั่น และเจจีซี โฮลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น ศึกษาความเป็นไปได้ในของโครงการ CCS โดยการศึกษาจะไม่ใช้เวลานาน เพราะญี่ปุ่นได้ดำเนินการแล้ว

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของโครงการ CCS คือ การแก้กฎระเบียบข้อบังคับกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อดำเนินการในแหล่งอื่นนอกสัมปทาน ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูว่ากฎหมายจะเอื้ออย่างไร เพื่อให้เราสามารถใช้พื้นที่อื่นเพื่อกักเก็บคาร์บอน

เพราะปริมาณแหล่งก๊าซในอ่าวไทยสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 40 ล้านตัน ในปี ค.ศ. 2040 เพราะประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอน 250 ล้านตันต่อวัน ถ้าเปลี่ยนรถ EV ทั้งประเทศได้ ปริมาณคาร์บอนจะลดลงมาที่ 160-170 ล้านตันต่อวัน ที่เหลือจะเป็นการลดปริมาณทางอ้อม เช่น การปลูกป่า เป็นต้น

“เบื้องต้นได้หารือกับภาครัฐ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องการกักเก็บคาร์บอน โดยจะมีการประชุมเร็ว ๆ นี้เพื่อผลักดันแผนดำเนินการ แต่หัวใจหลักคือการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ การมุ่งเรื่อง Net Zero เมืองไทยจะไปไม่ได้ถ้าไม่ทำ CCS

ดังนั้นควรร่วมมือกันโดยมีภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับภาคเอกชนร่วมกัน ส่วนการลงทุนเมียนมายังคงดำเนินโครงการต่อเนื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน” นายมนตรีกล่าว

ล่าสุดกลุ่ม ปตท.ได้ร่วมจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ “CCUS Consortium” ร่วมกับเอกชน ภายในงาน Future Energy Asia 2022 โดยมีนางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรสาธารณะเป็นที่ปรึกษา

ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) ที่ได้จากภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการปล่อย CO2 ในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระดับประเทศในการพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ยกระดับการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

สำหรับงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย จะเป็นการเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 10,000 ราย ผ่านสุดยอดการประชุม การสร้างเครือข่าย และการทำข้อตกลงร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เป้าหมายหลักของความร่วมมือในครั้งนี้ คือการร่วมสนับสนุนความก้าวหน้าของเทคโนโลยี CCUS วิจัยไปจนถึงการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม

ส่วนงาน ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย จะมีส่วนสำคัญในการร่วมเป็นสักขีพยานของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) สองฉบับระหว่างหน่วยงานจากสิงคโปร์และไทย ได้แก่ SWAT Mobility ร่วมกับ ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น โดยงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ฮอลล์ 98-99