ประวิตรลงพื้นที่นิคมบางปูสั่งกรมชลฯ-กอนช.บูรณาการน้ำหลากปี’65

ประวิตรลงพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ติดตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี’65 สั่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กรมชลประทาน บูรณาการแผนป้องกันน้ำหลากนิคมอุตสาหกรรมบางปูพื้นที่เสี่ยงโดยรอบ วางระบบชลประทานเร่งระบาย ป้องกันซ้ำรอย ปี’64

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 รายงานข่าวระบุ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.สมุทรปราการ โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแผนการระบายน้ำในพื้นที่ ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี’65 เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำหลากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าแผนงานและแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ การดำเนินการโครงการรักษ์คูคลองเฉลิมพระเกียรติ และโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปูและพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะ 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี’65 ที่จังหวัดและทุกหน่วยงานได้จัดทำแผนปฏิบัติการระบายน้ำหลากในพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว

และเพื่อให้การดำเนินการเกิดผลเป็นรูปธรรม จึงได้กำชับให้ สทนช. กรมชลประทาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ จ.สมุทรปราการ ร่วมบูรณาการจัดทำแผนหลักเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูและพื้นที่โดยรอบ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่น รวมทั้งให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ และสถานีสูบน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

“จากเหตุการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูเมื่อปีที่แล้ว 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ทันทีและได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการจัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นการเร่งด่วน ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมบางปู เป็น 1 ใน 3 นิคมอุตสาหกรรมสำคัญของ จ.สมุทรปราการ

เนื่องจากมีภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ ที่สร้างงาน สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและมีนโยบายผลักดันส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมผ่านโครงการและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินกิจการเดินหน้าได้อย่างมั่นคง”

พร้อมให้ความสำคัญด้านทรัพยากรน้ำ ทั้งการพัฒนา การฟื้นฟูแหล่งน้ำ การแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างความอยู่ดีกินดีของประชาชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า กอนช.ได้คาดการณ์ปริมาณฝนรายเดือนจากแผนที่ฝน ONE MAP พบว่า ช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. 65 ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าฝนปกติ และคาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย รวม 21 ตำบล ของ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสมุทรปราการ อ.บางเสาธง อ.บางบ่อ และ อ.บางพลี ทั้งนี้ กอนช.ได้ประสานจังหวัดสมุทรปราการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมรับมือ

ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ น้อมรับนโยบายดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี’65 พร้อมวางแผนป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่สมุทรปราการด้วยการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง 4 แห่ง

ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู ชุมชนคลองบางปลา ชุมชนบางพลี (คลองสำโรง) ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี และวัดบางบ่อ อ.บางบ่อ พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการกำจัดวัชพืชไปแล้วกว่า 66,000 ตัน นอกจากนี้ ยังได้ทำการขุดลอกคลองพระองค์ไชยานุชิต คลองชายทะเล คลองสุวรรณภูมิ เสร็จเรียบร้อยแล้ว


ส่วนคลองสำโรง มีความคืบหน้าร้อยละ 56 ของแผนการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบชลประทาน เร่งระบายน้ำผ่านคลองระบายน้ำแนวดิ่ง ก่อนใช้สถานีสูบน้ำที่ติดตั้งอยู่ริมคลองชายทะเล จำนวน 12 สถานี อัตราการระบายรวม 42 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เร่งระบายลงสู่ทะเลตามลำดับ อีกด้านหนึ่งจะมีการระบายน้ำผ่านคลองระบายแนวขวาง เพื่อระบายน้ำไปลงแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ในอัตราการระบายรวม 16 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน บางส่วนจะมีการระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในอัตรา 5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร อาทิ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 49 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 21 เครื่อง สามารถระบายน้ำได้เพิ่มขึ้นวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเสริมการระบายน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น