ปลัด ศธ. ชี้สังคมผู้สูงอายุ วิกฤตหนักของประเทศ จี้ทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาคน

อรรถพล สังขวาสี
อรรถพล สังขวาสี

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการชี้สังคมผู้สูงอายุ เป็นวิกฤตหนักของประเทศ ผลิตภาพแรงงานของไทยมีทิศทางลดลง-เยาวชนว่างงานนอกระบบการศึกษา จี้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาคนตั้งแต่วันนี้

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าจากการที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยกำลังจะเผชิญความท้าทายใหญ่หลวงในทศวรรษหน้า หากไม่เร่งเตรียมพร้อมพัฒนากำลังคนตั้งแต่วันนี้ เพราะการพัฒนากำลังคนต้องใช้เวลา ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับเด็กเกิดลดลงมากเป็นประวัติการณ์ หลายคนได้ฟังก็คิดว่าเป็นปัญหาที่ทราบกันแล้ว แต่มีข้อมูลมากมายที่ชี้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อย และกำลังจะกลายเป็นวิกฤตหนักของประเทศในทศวรรษหน้า ดังนี้

1.ในอีก 11 ปีข้างหน้าผู้สูงอายุของไทยจะสูงขึ้นเป็น 28% (มากกว่าปัจจุบันราว 10%) ซึ่งในทางวิชาการจะใช้ศัพท์ที่เรียกว่าสังคมสูงอายุระดับสุดยอด และปัจจุบันมีผู้สูงอายุ 19.2% อาศัยรายได้จากเบี้ยยังชีพจากราชการที่อัตราเพียงเดือนละ 600 -1,000 บาทต่อคนเท่านั้น

2.ผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) เป็นการวัดสัดส่วนผลผลิตต่อหน่วยของแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจระยะยาว และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

จากข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) พบว่า ผลิตภาพแรงงานต่อชั่วโมงของไทยมีทิศทางลดลงและปรับเป็นระดับหดตัวในปี 2563 ในอัตราร้อยละ -1.89 และจากการจัดอันดับของโดย Institute for Management Development (IMD) ปี2564 ผลิตภาพแรงงานของไทยอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 64 ประเทศ

3. ปี 2562 ไทยมีกลุ่มเยาวชนว่างงานและนอกระบบการศึกษา (NEET) เยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน และการฝึกอบรม มากถึง 1.3 ล้านคน (14% ของเยาวชนไทย) และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 1%

4. ปี 2564 ไทยมีแรงงานฝีมือเพียง 14.4% และมีแรงงานนอกระบบมากถึง 52% ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีสวัสดิการ เมื่อเกษียณอายุแล้วย่อมส่งผลกับการดำรงชีวิต ในระยะยาวจะกระทบต่อรัฐในการจัดสรรงบประมาณโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณด้านสุขภาพ

5.ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ที่คำนวณโดยธนาคารโลก (World Bank) ในปี 2563 อยู่ที่ 0.61 หมายความว่าเด็กที่เกิดในประเทศไทยเมื่อเติบโตขึ้นจะมีศักยภาพในระดับร้อยละ 61 ของผลิตภาพที่เป็นไปได้ของตัวเอง (Potential Productivity)

ดร.อรรถพลกล่าวต่อว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้ชี้ว่า หากปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามภาวะปกติ ในทศวรรษหน้าเราจะเผชิญปัญหาหนัก และปัญหานี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงภาคการศึกษา (Education Sector) เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบกับภาคอื่น ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

“อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยังชี้ให้เห็นว่ามีช่องว่างที่เราสามารถเข้าไปพัฒนา คือการเตรียมพัฒนากำลังคนให้ทำงานได้เต็มตามศักยภาพ ซึ่งการพัฒนากำลังคนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและเตรียมการตั้งแต่วัยเยาว์ จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการเตรียมพัฒนากำลังคนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตินี้”