กทม. ระดมสมองจัดทำร่างแผนฯ ด้านผู้สูงอายุระยะ 3 เน้นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

ผู้สูงอายุ
ภาพข่าว : Pixabay

กทม. ระดมสมองผู้บริหารหน่วยงานร่างแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ รับมือสังคมผู้สูงอายุ วางโครงสร้างสนับสนุนผู้สูงอายุใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเพื่อรับทราบแนวนโยบาย ระดมความคิดเห็น และจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) กลุ่มผู้บริหารหน่วยงานของกรุงเทพมหานครและผู้เกี่ยวข้อง

โดยรองปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวว่า  จากรายงานพบว่าวันนี้กรุงเทพมหานครเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และผู้สูงอายุในเขตเมืองมีความแตกต่างจากชนบทคือ จากครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลน่าสนใจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น คนโสดที่สูงอายุประสงค์จะอยู่คนเดียว คนสูงอายุที่มีครอบครัวแล้ว แต่ประสงค์จะอยู่คนเดียว ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญมาโดยตลอด จึงต้องมีกระบวนการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้สูงอายุมีหลักประกัน การดูแล การสอดส่องช่วยเหลือ ซึ่งรองรับในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติทางสังคม มิติทางกฎหมาย มิติทางเศรษฐกิจ มิติสุขภาพ เป็นต้น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ พึ่งพาตนเองได้ มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม และมีหลักประกันที่มั่นคงไปจนบั้นปลายชีวิต

แม้มีอายุมากขึ้น สังขารได้เสื่อมโทรมลง แต่ผู้สูงอายุไม่ได้เป็นภาระ เพราะท่านเป็นผู้มีประสบการณ์อันทรงคุณค่า สามารถยังประโยชน์ให้กับส่วนรวมได้อีกมาก สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างทรงเกียรติ และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน

“ในนามของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่เสียสละเวลามาประชุมในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกความเห็น ทุกประเด็นข้อเสนอ จะถูกรวบรวมและนำมาใช้ในการจัดทำแผน เพื่อให้ผู้สูงอายุของกรุงเทพมหานครได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีครบทุกมิติ และขออวยพรให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จ บรรลุวัตถุประสงค์ด้วยดีทุกประการ” พญ.วันทนีย์กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) คือมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และมีการคาดการณ์ว่า ในราวปี พ.ศ. 2578 จะมีผู้สูงอายุถึง 1 ใน 3 หรือกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) สำหรับกรุงเทพมหานครก็ได้เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว โดยมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 21.65

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 และต่อมาแผนฉบับที่ 2 ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. 2552 ได้กำหนดมาตรการใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของผู้สูงอายุและสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มุ่งเน้นด้านคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพได้นานที่สุด

โดยมีสวัสดิการจากรัฐเป็นระบบเสริม เพื่อให้เกิดหลักประกันและความมั่นคง ในส่วนกรุงเทพมหานครได้นำข้อมูลจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ และแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี มาเป็นกรอบแนวคิดในการร่างแผนฯ มีการกำหนดยุทธศาสตร์เป็น 5 ยุทธศาสตร์หลัก ตามแผนฯ ระดับชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันดำเนินการตามแผนจนเสร็จสิ้นแผนระยะที่ 2 แล้ว

ในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 ครั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้นำผลการประเมินแผนระยะที่ 2 มาเป็นข้อมูลนำเข้าในการจัดทำแผน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 ให้กับผู้บริหารทุกสำนัก และผู้อำนวยการเขต 50 เขต รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ต.ค. 65 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ เขตราชเทวี

และได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. 65 ณ โรงแรมสุโกศล เขตราชเทวี ซึ่งการจัดทำแผนจะมีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มีการวิพากษ์ร่างแผน จัดทำรูปเล่ม และจัดประชุมชี้แจงหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง

โดยมีเป้าหมายคือ เกิดแผนบูรณาการงานด้านผู้สูงอายุของกรุงเทพมหานคร เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของแผนระยะที่ 3 ที่กล่าวว่า “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม” และสอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ (Active Aging)” โดยมีกำหนดการดำเนินงานแล้วเสร็จในวันที่ 5 ก.พ. 66