ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี 2567 ตรวจสอบผู้มีสิทธิ-เอกสาร-ช่องทาง

ลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี 2567 ตรวจสอบสิทธิ-เอกสาร-ช่องทาง

กระทรวงมหาดไทย เปิดรับลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. ปีงบฯ 2567 แล้ว เริ่มลงทะเบียน เดือน ต.ค.-พ.ย. 65 และเดือน ม.ค.-ก.ย. 66

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ข่าวสดรายงานว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวกรณีการแจ้งให้ทุกจังหวัดซักซ้อมแนวทาง การรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ 2567 (เกิดก่อน 2 ก.ย. 2507) รวมถึงผู้สูงอายุที่ย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในพื้นที่ อปท. แต่ยังไม่ได้ยื่นคำขอลงทะเบียน

สามารถยื่นคำขอเพื่อแสดงความจำนงขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ต่อ อปท.ตามภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ โดยเปิดรับลงทะเบียน 2 ช่วง

  • ช่วงแรก ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน
  • ช่วงที่สอง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2566

สามารถยื่นคำขอด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแทน

นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ซึ่งต้องขังหรือจำคุกอยู่ในเรือนจำ ทัณฑสถานหรือสถานที่คุมขังของกรมราชทัณฑ์ ให้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่ที่ผู้บัญชาการเรือนจำมอบหมาย หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการ ยื่นต่อ อปท.ตามภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิต้องมีสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาในเขต อบต. หรือเทศบาลตามทะเบียนบ้าน และไม่เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ อปท.

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า การยื่นแบบคำขอลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้องเตรียมเอกสารสำคัญ ประกอบด้วย

  1. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งออกโดยหน่วยงานของรัฐ
  2. ทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
  3. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร

สำหรับกรณีประสงค์จะขอรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร ผู้สูงอายุสามารถแจ้งความประสงค์วิธีการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้วิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น ดังนี้

  1. รับเงินสดด้วยตนเอง
  2. รับเงินสดโดยบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ
  3. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามตนเอง
  4. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า กรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่มีการย้ายภูมิลำเนาไปยังเขต อบต. หรือเทศบาลอื่น ให้ลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีภูมิลำเนาในเขต อบต. หรือเทศบาลแห่งใหม่ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 หากไม่ไปลงทะเบียนตามกำหนด แต่ได้ลงทะเบียนยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพในภายหลังที่กำหนด ทาง อบต.หรือเทศบาลแห่งใหม่ จะจ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้ในปีงบประมาณถัดไป (ปีงบประมาณ 2568)

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป ณ บอร์ดประชาสัมพันธ์ของ อบต. หรือเทศบาล ที่ได้ไปลงทะเบียน หรือพื้นที่ที่ อบต.หรือเทศบาลกำหนดไว้ และสามารถตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั้งหมดได้ในวันที่ 29 กันยายน 2566

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ อบต. หรือเทศบาลในพื้นที่ของท่าน