ดีเดย์ เริ่มแยกสอนวิชาประวัติศาสตร์ ปี 2566 มุ่งให้เด็กรู้จักรากเหง้าตนเอง

สพฐ.
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.

กระทรวงศึกษาธิการดีเดย์ เริ่มแยกสอนวิชาประวัติศาสตร์ ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 มุ่งให้เด็กเรียนรู้รากเหง้าตนเอง ใช้อดีตเป็นบทเรียนแก้ปัญหาชุมชน สังคม 

วันที่ 2 ธันวาคม 2565 จากกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมประกาศ ศธ.เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติเห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอนั้น

ล่าสุด มติชนรายงานว่า ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.เปิดเผยว่า ขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดประกาศ ศธ.เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาลงนาม 

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ สพฐ.ออกแบบใหม่นั้น จะมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งไม่ใช่การเรียนประวัติศาสตร์ทุกเรื่องราว ทุกสิ่งอย่าง แต่จะสอนให้ผู้เรียนรู้เรื่องตนเอง ครอบครัว สังคม ชุมชน และวิถีชีวิต เพื่อให้รู้รากเหง้าของตนเองว่ามีความเป็นมาอย่างไร และจะต่อยอดให้ดีขึ้นอย่างไร

“การแยกวิชาประวัติศาสตร์เป็นรายวิชาพื้นฐาน จะต้องปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ใหม่ เพราะเดิมสอนวิชาประวัติศาสตร์แบบท่องจำ แต่ต่อไปจะจัดกระบวนการเรียนประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชีวิต เพื่อนำสิ่งที่เรียนมาใช้ประกอบความคิด ใช้แก้ปัญหา และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น 

ดังนั้น ต่อไปจะปรับโครงสร้างวิชาประวัติศาสตร์ให้เน้นเฉพาะมากขึ้น พร้อมกับปรับวิธีการเรียนรู้ใหม่ เมื่อปรับวิธีเรียนแล้ว จะต้องปรับวิธีการวัด และประเมินผลใหม่ โดยจะประเมินความคิดนักเรียนว่านักเรียนสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ แก้ปัญหาโดยคำนึงถึงอดีต เอาอดีตมาเป็นบทเรียนหรือไม่ ปัญหาชุมชน สังคมลดลงหรือไม่ ประเทศพัฒนาไปดีกว่าเดิมหรือไม่”

ดร.อัมพรกล่าวต่อว่า สำหรับการแยกรายวิชาประวัติศาสตร์เป็นรายวิชาพื้นฐานในครั้งนี้ จะมีผลกับการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป