“ม.เกษตร” ผุดอุทยานการแพทย์ ปักธงปี’72 รองรับผู้ป่วย 400 เตียง

ม.เกษตร อุทยานฯ

S-curve ใหม่รับปีที่ 81 ของมหา’ลัยเกษตรศาสตร์ มุ่งสร้างอุทยานการแพทย์เฉลิมพระเกียรติ ชู “หมอ Green” แพทย์เฉพาะทางสาขาวิชาเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม เน้นรักษาโรคจากสัตว์สู่คน, สารเคมีการเกษตร, การบริโภคอาหาร พร้อมขึ้นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง ทยอยเปิด คณะพยาบาล-ทันตแพทย์-เภสัช ปี 2572

ตลอดระยะเวลา 80 ปี นับจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ก่อตั้งเมื่อปี 2466 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน การจัดการเรียนการสอนจากคณะต่าง ๆ อาทิ คณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และอื่น ๆ ต่างประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

โดยความสำเร็จดังกล่าวมาจากองค์ความรู้ทางด้านเกษตรศาสตร์ และสัตวศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยบ่มเพาะแก่บรรดานิสิตทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ต่างเป็นที่ประจักษ์ชัดตลอดมา ดังนั้นในช่วงของการก้าวสู่ S-curve ใหม่ในปีที่ 81 ของปีการศึกษา 2567 ทีมคณาจารย์ของมหา’ลัยจึงมองโลกการศึกษาในอนาคตที่จะต้องนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนยุคใหม่กับนิสิตด้วยการเปิด “โครงการอุทยานการแพทย์เฉลิมพระเกียรติ”

โดยอุทยานการแพทย์แห่งนี้ไม่เพียงจะมี คณะแพทยศาสตร์ สาขาวิชาเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม (Ago-Medicine and Bio-Innovation) เป็นจุดเด่น หากยังมีแผนจะเปิด คณะพยาบาลศาสตร์ พร้อมกับเปิดโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน, คณะทันตแพทย์ และคณะเภสัชศาสตร์ ตามมาอีกด้วย

ล่าสุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินจำนวน 8.8 พันล้านบาท จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เพื่อเริ่มก่อสร้างคณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง ในปีงบประมาณนี้แล้ว

ผลิตหมอติดดินรับโรงพยาบาลบาลสีเขียว

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังมุ่งสู่ช่วง S-curve ระยะที่ 2 ในปี 2567 ดังนั้น ทีมคณาจารย์และผู้ใหญ่หลายคนในแวดวงวิชาการได้หารือกันว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีองค์ความรู้ค่อนข้างครบถ้วน ทั้งวิทยาศาสตร์-เกษตรศาสตร์-สัตวศาสตร์-อาหาร-ชีววิทยา

Advertisment

ซึ่งเป็นรากวิชาพื้นฐานของการเรียนแพทยศาสตร์ เพียงแต่คณะแพทยศาสตร์มีเปิดการเรียนการสอนไปแล้วในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ดังนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะเปิดคณะแพทยศาสตร์ ก็จะต้องแสดง “อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งอื่น ๆ”

ตรงจุดนี้จึงกลายเป็นที่มาของการเปิด ภาควิชาสาขาเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม ในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอันดับแรก โดยจะทำการผลิต “แพทย์เฉพาะทาง” ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ทางการรักษาโรคจากสัตว์สู่คน, โรคจากสารเคมีทางการเกษตร, โรคที่เกิดจากเครื่องจักรกลทางการเกษตร, โรคจากการบริโภคอาหาร หรือ “พูดง่าย ๆ ว่า นิสิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรฯค่อนข้างติดดิน ซึ่งจะเรียกหมอเกษตร หรือหมอติดดิน ก็ได้ เพราะพวกเขาต้องลงพื้นที่ทำวิจัย ผลิตยารักษาโรค วัคซีน หรือแม้แต่ผลิตยาสมุนไพรที่ใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ด้วย” ดร.จงรักกล่าว

Advertisment

ส่งผลให้แผนงานที่อยู่ภายใต้ โครงการอุทยานการแพทย์เฉลิมพระเกียรติ พื้นที่ 50 ไร่ แบ่งออกเป็น การก่อสร้าง คณะแพทยศาสตร์, คณะพยาบาลศาสตร์, คณะทันตแพทย์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขนาด 400 เตียง จำนวน 25 ไร่ โดยจะเริ่มตอกเสาเข็มสำหรับสร้างโรงพยาบาลประมาณเดือนตุลาคม 2566

ส่วนที่ดินอีก 25 ไร่ที่เหลือ จะออกแบบให้เป็น สวนสาธารณะทางการแพทย์ (Medical Park) เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลสีเขียว ตามแนวทางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ของสหประชาชาติ โดยสถานที่จะรายล้อมไปด้วยต้นไม้และพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลรู้สึกผ่อนคลายเหมือนกับมาสวนสาธารณะ

“สำหรับพื้นที่อุทยานการแพทย์เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ติดถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางเขน ) ซึ่งเดิมเป็นหอพักนิสิตหญิงที่สร้างเมื่อ 50-60 ปีแล้ว จะซ่อมแซมก็ไม่คุ้ม เราจึงปรับปรุงพื้นที่เพื่อสร้างคณะต่าง ๆ รวมถึงโรงพยาบาลด้วย ตอนแรกคิดจะให้ คณะเภสัชศาสตร์ อยู่ภายในอุทยาน แต่พอดูความพร้อมเรื่องของการเรียนการสอน การปลูกพืชสมุนไพรและการวิจัยแล้ว อาจจะให้นิสิตไปเรียนที่วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เพราะพื้นที่กว้างขวาง และอยู่ไม่ไกลจากบางเขนเท่าไหร่นัก” ดร.จงรักกล่าว

ผลิตพยาบาล-ทันตแพทย์-เภสัช

ดร.จงรักกล่าวต่อว่า สำหรับแผนและหลักสูตรการเรียนการสอน จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะเปิดรับสมัครนักเรียนเพื่อสอบเข้า คณะแพทยศาสตร์รุ่นแรก ในปี 2567 โดยมีการเปิดรับสมัครโควตาจากต่างจังหวัด ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะทำการสอบแอดมิสชั่น ซึ่งจะเปิดรับเพียง 48 คน/รุ่น

ส่วนการเรียนการสอนระดับชั้นปรีคลินิก จะเรียนทางด้านจุลชีววิทยา, ปรสิตวิทยา, พยาธิวิทยาคลินิก, ชีววิทยาและพันธุวิศวกรรม ที่คณะวิทยาศาสตร์ก่อน ต่อจากนั้นพอขึ้นชั้นปีที่ 4-6 (คลินิก) จะเรียนลงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม แพทย์แผนไทย รังสีวิทยา ศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิกส์ สูตินรีเวชศาสตร์

ส่งผลให้นิสิตชั้นปีที่ 4-6 จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดย 24 คนจะถูกส่งไปเรียนที่ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี และอีก 24 คนจะส่งไปเรียนที่ โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร จ.สกลนคร เพราะทั้ง 2 แห่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่มีความพร้อมทั้งสถานที่และทีมคณาจารย์ทางการแพทย์

“ตอนนี้หลักสูตรการเรียนการสอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และในวันที่ 28 มี.ค. แพทยสภาจะเข้ามาตรวจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไร ฉะนั้นใน 6-7 ปีข้างหน้า เราจะมีแพทย์เกษตรฯออกมารองรับผู้ป่วยอย่างแน่นอน และต่อจากนั้นคงต้องให้แพทยสภามาตรวจอีกครั้งว่า จะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นได้อีกกี่คน เพราะโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีขนาด 400 เตียง เราต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทั้งหมด ประมาณ 2,000 คน ซึ่งผมคิดว่าเมื่อถึงปี 2572 เราน่าจะไปถึงจุดนั้นได้แล้ว” ดร.จงรักกล่าว

ขณะที่ในส่วนของคณะพยาบาลศาสตร์ จะเปิดรับสมัครรุ่นแรกปี 2567 เช่นกัน โดยจะเปิดรับเพียง 100 คน/รุ่น ซึ่งเมื่อถึงปี 2572 หลังจากที่โรงพยาบาลแล้วเสร็จก็น่าจะผลิตพยาบาลได้หลายร้อยคน สามารถรองรับผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง ต่อจากนั้นจึงดำเนินการต่อในระยะที่ 2 ด้วยการเปิด คณะทันตแพทย์ กับเภสัชศาสตร์ เป็นลำดับต่อไป

มุ่งสร้างชื่อหวังดึงผู้ป่วยต่างชาติ

นอกจากนั้น ดร.จงรักยังกล่าวถึง แผนธุรกิจในการดำเนินโครงการอุทยานการแพทย์เฉลิมพระเกียรติว่า ตลอดเวลาผ่านมาปัญหาเรื่องสุขภาพของคนไทยเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของระบบสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่าง ๆ ของรัฐ “ซึ่งผมและผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนมองเห็นปัญหาตรงนี้ จึงนั่งคิดกันว่า ถ้าจะเปิดโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต้องทำให้ระบบสาธารณสุขมีรายได้เข้ามาเลี้ยงตัวเองให้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งเงินจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แม้จะให้ความสำคัญต่อการรักษาประชาชนคนไทยก่อนก็ตาม”

ดังนั้นทางแก้ตรงนี้คือ ต้องหันมามองตัวเองว่าจะสร้างโรงพยาบาลให้มีชื่อเสียงในระดับโลกได้อย่างไร ทางหนึ่งเพื่อช่วยประเทศไทยในอนาคต ขณะที่อีกทางหนึ่ง เราต้องการเป็น “ฮับ” เพื่อรองรับคนต่างชาติที่จะเข้ามารักษาในประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะโรคจากสัตว์สู่คน-โรคจากสารเคมีทางการเกษตร-โรคที่เกิดจากเครื่องจักรกลทางการเกษตร และโรคจากการบริโภคอาหาร ถ้าเราทำถึงตรงจุดนั้นได้ จะทำให้คนต่างชาติที่มีฐานะเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลของเรา

“ผมวางแผนว่า หลังจากนิสิตแพทย์จบปี 6 จะทำการคัดเลือกเพื่อส่งคนที่เรียนเก่ง ๆ ไปเรียนแพทย์เฉพาะทางที่ประเทศอังกฤษ เพราะที่นั่นมีโรงพยาบาลในลักษณะเดียวกันกับเรา เพื่อให้เขานำความรู้กลับมาประยุกต์ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องหาแพทย์เฉพาะทางที่อยู่ในเมืองไทยเข้ามาเสริมทัพ พร้อม ๆ กับขยายจำนวนเตียงระดับพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้นอีก 100 เตียง โดยจับกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่มีฐานะเพื่อมาช่วยโรงพยาบาลขนาด 400 เตียงอีกที คล้าย ๆ กับที่โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งเปิดดำเนินการในลักษณะนี้อยู่” ดร.จงรักกล่าว