คณะแพทย์ ม.เกษตรฯ รับนักศึกษารุ่นแรกปี’ 67 พยาบาล-เภสัช-ทันตะ ระยะถัดไป

คณะแพทย์ ม.เกษตรฯ รับนศ.รุ่นแรกปี’67

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมรับนักศึกษารุ่นแรกปีการศึกษา 2567 เล็งเปิดคณะพยาบาลศาสตร์-เภสัชศาสตร์-ทันตแพทยศาสตร์ ระยะถัดไป

วันที่ 1 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกาศเปิดคณะแพทยศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยจะเปิดสาขาวิชาเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม (Agro-medicine and Bio-innovation) เป็นสาขาแรกพร้อมกับเตรียมรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2567

รองศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง ขัตยานุวงศ์ ประธานคณะกรรมการเพื่อการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ และเพื่อพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยในการประชุมวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 61 วาระครบรอบ 80 ปีสถาปนามหาวิทยาลัยว่า ขณะนี้หลักสูตรของคณะแพทย์ ม.เกษตรฯ อยู่ในการพิจารณาของแพทยสภา ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะติดปัญหาอะไร และสามารถรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2567 ทันที

และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงระหว่างวางแผนการก่อสร้างอาคารเรียน โดยคณะสถาปัตยกรรมรับผิดชอบในการออกแบบ ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาเพราะคณะแพทย์มีอาคารประจำการอยู่ที่ชั้น 6-7 อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา คณะวิทยาศาสตร์แล้ว

“ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น ม.เกษตรฯ มีความพยายามที่จะจัดตั้งคณะแพทย์มาตั้งแต่ปี 2545 แต่เกิดเหตุสะดุดด้วยปัจจัยหลายด้านจึงไม่ได้สานต่อ จนท่านอธิการบดี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ มอบหมายให้ผมศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำกลับมาสานต่อ สิ่งที่ผมมองเห็นคือ ม.เกษตรฯ ค่อนข้างมีความพร้อมอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติหลักสูตรมาตั้งแต่ปี 2545 เราก็นำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องเอาจุดเด่นของเรามาใช้ คือจุดเด่นด้านเกษตร เรามีงานวิจัยด้านเกษตรเยอะมากในรั้วมหาวิทยาลัย เราจึงได้นำองค์ความรู้ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยตามคณะต่าง ๆ มาช่วยกันพัฒนาหลักสูตร ทำให้เป็นหลักสูตรผลิตแพทย์ที่เข้าใจในบริบทเกษตรกรรม”

Advertisment

รองศาสตราจารย์ ดร.สมหวังกล่าวต่อว่า ในอดีตการจะตั้งโรงเรียนแพทย์ได้นั้นจำเป็นจะต้องมีโรงพยาบาลก่อน แต่ในปัจจุบันผมมองว่าไม่จำเป็นเสมอไป เราสามารถใช้เครือข่ายความร่วมมือได้ ตามมาตรฐานของแพทยสภาคือจะต้องร่วมกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเตียงรองรับคนไข้ 400 เตียงขึ้นไป ซึ่งเราพยายามค้นหาโรงพยาบาลจนพบโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี และโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในวิทยาเขตของเรา จะร่วมกันผลิตบัณฑิตแพทย์ และเรามีพี่เลี้ยงจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

หลักสูตรหนึ่งเดียวในไทย

ด้านศาสตราจารย์คลินิก พลตรี นายแพทย์อุปถัมป์ศุภสินธุ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าสำหรับหลักสูตรแรกที่เปิดจะเป็น สาขาวิชาเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม (Agro-medicine and Bio-innovation) ซึ่งเป็นสาขาทางการแพทย์ที่ไม่เคยมีสถาบันใดดำเนินการมาก่อนในประเทศ เหตุผลที่ต้องเป็นหลักสูตรนี้ เนื่องจากโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยมีจำนวนมาก การจะตั้งคณะแพทย์ขึ้นมา ทุกคนจะตั้งคำถามก่อนว่าอัตลักษณ์ของเราคืออะไร จุดมุ่งหมายหลัก ๆ คือ เปิดมาแล้วคนต้องอยากมาเรียน เราต้องสร้างความก้าวหน้าให้กับมหาวิทยาลัยด้วย

Advertisment

อย่าง ม.เกษตรฯ เราถนัดเรื่องเกษตร เราก็ต้องนำวิชาด้านเกษตรมาผสมผสาน ในฝั่งเอเชียไม่มีใครสอนเรื่องเกษตรกับการแพทย์ จะมีแค่ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา แคนาดาบ้าง ยิ่งบริบทของสังคมไทย เป็นสังคมเกษตร จะเห็นว่าโรคที่เกิดจากการทำเกษตรมีจำนวนมาก ไม่ว่าจะมาจากการกินพืช หรือกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นจึงมุ่งเป้าว่าอยากจะผลิตแพทย์ที่รู้เรื่องพืชพรรณเกษตร รู้เรื่องโรคเขตร้อน โรคอุบัติใหม่มีความเข้าใจเรื่องอาหารกับสิ่งแวดล้อม, ยา,แพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกผสมผสาน โรคจากสัตว์สู่คน เป็นต้น และปีสุดท้ายเด็กทุกคนต้องมีผลงานวิจัยของตนเองจึงจะผ่าน ที่สำคัญ เราจะสร้างเด็กมีจริยธรรมทางการแพทย์ มีจริยธรรม และเป็นผู้นำชุมชน นำความเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชนด้วย

เตรียมเปิดพยาบาล-เภสัช-ทันตะ ระยะถัดไป

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมหวังเปิดเผยอีกว่าการจัดตั้งคณะแพทย์ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการอุทยานการแพทย์เฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากการประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เห็นชอบว่า นอกจากการก่อตั้งคณะแพทย์แล้วควรมีคณะอื่น ๆ ตามมาด้วย เพื่อให้เกิดการขยายการศึกษาในเชิงสุขภาพมากขึ้น

ดังนั้นในโครงการอุทยานการแพทย์ฯ จึงแบ่งระยะการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วยระยะแรกนับตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2572 จะดำเนินการ 3 เรื่องคือ 1.ตั้งคณะแพทยศาสตร์ 2.ตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ 3.ตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ที่วิทยาเขตบางเขน โดยใช้งบประมาณราว 8.8 พันล้านบาท

และในระยะที่สองจะมีการตั้งคณะเภสัชศาสตร์ และทันตแพทย์ศาสตร์ ซึ่งจะต้องพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งว่าจะเกิดขึ้นที่วิทยาเขตใด

“โครงการอุทยานการแพทย์ ใช้งบประมาณสูง ในจำนวน 8.8 พันล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากงบประมาณแผ่นดิน จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการสร้างอาคาร อุปกรณ์การเรียน แต่อุปกรณ์การรักษา และเทคโนโลยีอื่น ๆ อาจต้องขอความกรุณาจากภาคส่วนอื่น ๆ รวมถึงการระดมทุนจากศิษย์เก่าด้วย”