
ทำความรู้จัก Skill Mapping ระบบสำรวจความต้องการทักษะการทำงานกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ หนึ่งในนโยบายของ “ศุภมาส อิศรภักดี” รมว.กระทรวง อว. หนุนมหาวิทยาลัยนำไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตร
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในนโยบายของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในด้านการพัฒนากำลังคนของประเทศ ผ่านระบบอุดมศึกษาคือการหนุนให้มหาวิทยาลัยทำ Skill Mapping หรือแผนที่ทักษะเพื่อระบุทักษะที่สำคัญในการทำงานในสาขาอาชีพสมัยใหม่ และเป็นไปตามความต้องการของประเทศ
โดยการทำ Skill Mapping จะใช้ข้อมูลจากการสำรวจความต้องการทักษะของภาคธุรกิจ และจากฐานข้อมูลการทำงานระดับโลก เพื่อทำการวิเคราะห์หาทักษะที่นักศึกษาควรมี
นางสาวศุภมาสกล่าวว่า ขณะนี้ได้ประกาศทักษะที่พึงประสงค์ไปแล้ว 5 สาขา ได้แก่ 1.เกษตรสมัยใหม่ 2.การตลาดดิจิทัล 3.การท่องเที่ยวสมัยใหม่ 4.ยานยนต์ไฟฟ้า และ 5.นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษา หรือหน่วยงานที่จะพัฒนากำลังคน สามารถนำไปปรับใช้ได้ และได้กำหนดแนวทางในการทำ Skill Mapping ในสาขาที่สำคัญอีกประมาณ 10 สาขา และจะต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้ทันสมัยตลอดเวลา เพื่อให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งนำไปสำรวจดู และใช้ในการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดงาน
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จัก Skill Mapping พร้อมกับยกตัวอย่างการแสดงผล ดังนี้
Skill Mapping คืออะไร ?
Skill Mapping คือ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เริ่มจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง (สจล.) พัฒนาขึ้นมาเพื่อรวบรวมและแสดงทักษะที่จำเป็นสำหรับแต่ละตำแหน่งงานในปัจจุบันจากฝั่งผู้ประกอบการ (Demand Side) เชื่อมโยงทักษะในหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างผู้เรียนจากฝั่งสถานศึกษา (Supply Side) เพื่อช่วยในการวางแผนทรัพยากรบุคคลของประเทศและการออกแบบแนวทางการเรียนรู้ที่ตอบสนองอุปสงค์ภาคแรงงานได้อย่างแท้จริง
จุดเด่น
จุดเด่นของโซลูชั่นดังกล่าว คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานรับรองคุณวุฒิ หน่วยงานของรัฐ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะแรงงานที่ผู้ประกอบการคาดหวังในการจ้างงานได้
โดยระบบจะปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลาโดยใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ประมวลผลข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บทั้งจากผู้ใช้งานโดยตรง รวมถึงแหล่งข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพสายงานต่าง ๆ ร่วมกับฐานข้อมูลภายนอกอื่น ๆ อาทิ ข้อมูลจากเว็บไซต์สมัครงานที่เป็นที่นิยมอย่าง ลิงก์อิน (LinkedIn) จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) นำมารวบรวมและกลั่นกรองก่อนประมวลผลออกมาเป็นฐานข้อมูลกรอบทักษะที่แต่ละสายอาชีพต้องการอย่างแท้จริง
ทั้งด้านเทคนิคและทักษะทั่วไปเพื่อให้สถานศึกษาต่าง ๆ ได้นำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบหลักสูตร นอกจากนี้ โซลูชั่นดังกล่าวยังเปิดให้ นักศึกษา ประชาชน ได้เข้าถึงฐานข้อมูลที่แสดงบน Skill Mapping มาเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะของตนให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละสายอาชีพได้เช่นกัน
ตัวอย่างการแสดงผลของ Skill Mapping
สำหรับการแสดงผล Skill Mapping มีหลากหลายสาขา เช่น การตลาดดิจิทัล, Smart Farmer, Tour & Travel, ศิลปะ, อาหาร, ธุรกิจ ฯลฯ
ยกตัวอย่าง Skill Mapping แสดงภาพรวมจำนวนผู้ประกอบอาชีพในกลุ่ม Smart Farmer 5 อันดับ ดังนี้
- ชาวนา หรือเกษตรกร (Farmer) 321,928 คน
- ภูมิสถาปัตย์ (Landscaper) 96,234 คน
- วิศวกรการเกษตร (Agricultural Engineer) 71,529 คน
- นักปฐพีวิทยา (Agronomist) 61,197 คน
- ผู้จัดการฟาร์ม (Farm Manager) 48,155 คน
นอกจากนั้น ใน Skill Mapping ยังแสดงทักษะที่จำเป็นต้องมีในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ Smart Farmer เช่น ทักษะเรื่องการเกษตร, การเพาะปลูก, การเกษตรยั่งยืน, ธุรกิจการเกษตร ฯลฯ
ส่วนทักษะที่ผู้ประกอบอาชีพในกลุ่ม Smart Farmer 5 อันดับ ได้แก่
- การเกษตร (Agriculture) 108,086 คน
- การจัดสวน (Landscaping) 50,819 คน
- ฟาร์ม (Farm) 36,713 คน
- AutoCAD 31,068 คน
- การออกแบบภูมิทัศน์ (Landscape Design) 30,096 คน
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีตำแหน่งงานในกลุ่ม Smart Farmer มากที่สุด
- การทำฟาร์ม (Farming)
- สถาปัตยกรรมและการวางแผน (Architecture & Planning)
- ขายปลีก (Retail)
- โครงสร้าง (Construction)
- การผลิตอาหาร (Food Production)