“กรุยกรายบางกอก” นำทัพทีมดีไซเนอร์ Workshop นักศึกษาศิลปกรรม DPU สู่นักออกแบบที่มีทักษะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ “ที่ไม่นิดหน่อย”
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ “กรุยกรายบางกอก” แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นร่วมสมัยที่ยืนหนึ่งเรื่องลายผ้า จัด Workshop สุดเอ็กซ์คลูซีฟ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวนกว่า 50 คน ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานจริงในวงการแฟชั่น ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การตลาด ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ให้ตรงความต้องการของตลาด และก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นในการร่วมออกแบบคอลเล็กชั่น “ตรุษจีนปี 2025” เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
โดยการ Workshop ได้รับเกียรติจาก “คุณบิวตี้โรส-บุญศักดิ์ ยุระตา” เจ้าของแบรนด์ค้ำคูณ แบรนด์แม่ของกรุยกราย และทีมดีไซเนอร์มากประสบการณ์ของกรุยกราย นำโดย “คุณเบนซ์-อลัน วงศ์จันทร์คูณ” มาถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการออกแบบอย่างใกล้ชิด โดยลายที่ได้รับเลือกจะถูกนำไปผลิตจริง พร้อมกับนำไปจัดแสดงในงานแฟชั่นโชว์เคสต่าง ๆ และร่วมในการถ่ายแบบและโปรโมตคอลเล็กชั่นจริงทุกช่องทางการสื่อสาร นอกจากนี้ผลงานการออกแบบที่โดดเด่นยังลุ้นรับการซื้อลิขสิทธิ์ลายผ้าที่โดนใจจากแบรนด์กรุยกรายอีกด้วย
‘เนาเส้นทาง’ ทำงานจริงในวงการแฟชั่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการพิเศษนี้ว่า เกิดจากความตั้งใจของคณะศิลปกรรมฯ และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และต้องการผลักดันให้นักศึกษามีผลงานที่เป็นรูปธรรมที่มองเห็นภาพของความสำเร็จได้จริงมากขึ้นกว่าเดิม จึงได้มองหาพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ รวมถึงมีชื่อเสียง ซึ่ง “กรุยกราย” เป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จและเหมาะสมที่สุดในเวลานี้ ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเรื่องลวดลายบนงานแฟชั่น และยังเป็นศิษย์เก่าที่เข้ามาช่วยงานคณะอยู่บ่อยครั้ง เพื่อมาร่วมกันพัฒนาโครงการ และปูทางให้นักศึกษารุ่นน้องก้าวสู่เส้นทางอาชีพ
“นักศึกษาจะได้เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนต้นน้ำยันปลายน้ำอย่างครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างตัวตนของแบรนด์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การร่างภาพ นำเสนอไอเดีย พัฒนางานออกแบบ จัดวางรีพีตลาย เล่าเรื่องให้ได้ ถ่ายภาพเพื่อนำเสนอ เขียนแคปชั่น ภาพประกอบ และการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ที่จะต้องมีลูกเล่น สามารถสื่อสารคอลเล็กชั่นและแบรนด์ และดึงดูดใจผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ จนทำให้สินค้ามีมูลค่ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้นักศึกษายังจะได้เรียนรู้ถึงการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน รวมถึงการสร้างคอนเน็กชั่น และใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบัน เรียกได้ว่าปูตั้งแต่พื้นฐานจนสามารถเข้าใจกระบวนการทำงานแบบมืออาชีพได้ครบวงจรเลยทีเดียว”
การ Workshop นี้จึงไม่เพียงจะเป็นแรงบันดาลใจ และเพิ่มความมั่นใจให้กับนักศึกษาในการที่จะก้าวสู่เส้นทางอาชีพในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้ประกอบการที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เท่านั้น คณะศิลปกรรมฯ ยังมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับกรุยกรายและแบรนด์อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษารุ่นต่อ ๆ ไปได้เรียนรู้จากธุรกิจจริง และได้พัฒนาและแสดงศักยภาพ พร้อมกับสร้างงาน สร้างอาชีพ ได้ในระหว่างเรียน
“คลาสแรกนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีความตื่นเต้นกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก และต่างพยายามนำเสนอความเป็นตัวเองออกมา โดยต่อจากวันนี้นักศึกษาจะได้ออกแบบลายผ้าจากแรงบันดาลใจจาก “เสวียนอู่” (เต่าผสมงู) ซึ่งเต่าเป็นสัตว์ที่อยู่คู่ DPU มานาน ผสมกับงู ซึ่งเป็นปีนักษัตรในปี 2568 เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ฝึกฝน และต่อยอดสู่เส้นทางอาชีพในวงการแฟชั่นอย่างมืออาชีพ” คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ กล่าว
ดีไซน์ ‘วรยุทธ์แฟชั่น’ ให้ตรงจุดความต้องการตลาด
หัวใจสำคัญของการ Workshop ในครั้งนี้คือการ “เรียนรู้จากประสบการณ์จริง” ทั้งหมดจากคุณบิวตี้โรส ตั้งแต่กระบวนการคิดคอนเซ็ปต์ การออกแบบ การผลิต การตลาด การสร้างแบรนด์ ไปจนถึงการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “ทำน้อยได้มาก” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ
ตัวอย่างที่นักศึกษาจะได้รับ เช่น การดึงแรงบันดาลใจมาออกแบบด้วยสิ่งรอบตัว มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ เช่น ลวดลายจากธงกฐินที่สะสมไอเดียไว้ 3 ปี ก่อนจะนำมาผลิตจริง หรือแม้กระทั่งการนำเทคนิคการปักชุดนักเรียนธรรมดา ๆ มาเพิ่มมูลค่าปักเป็นลายโลโก้กรุยกรายบางกอก ที่มีความแข็งแรงในแบรนด์อยู่แล้วจนสร้างมูลค่าขายได้ในราคาหลักพัน เป็นการช่วยช่างปักสร้างรายได้ในธุรกิจที่ต่อยอดออกไป สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักศึกษาจะได้เห็นมุมมองที่เป็นโอกาสการทำธุรกิจที่อยู่รอบตัว
รวมถึง การสร้างแบรนด์และการตลาด โดยใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะ IG ให้เป็นหน้าร้านของแบรนด์ ใส่ใจกับการเลือกรูปภาพที่สวยงาม และเขียนแคปชั่นที่น่าสนใจดึงดูดลูกค้า, การกำหนดราคาอย่างมีศิลปะ ตั้งราคาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เสียราคาสินค้าในระยะยาว และสะท้อนคุณค่าของงานศิลปะ, การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา ซึ่งมีสิ่งสำคัญคือต้องรู้จักวิธีแก้ไข เช่น การทำคอนเทนต์ให้ปัง การสร้างคอนเน็กชั่น และการมองหาโอกาสใหม่ ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้เรื่องการ “จดลิขสิทธิ์” เพื่อปกป้องผลงาน และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกด้วย
“เหมือนถ่ายทอดวิทยายุทธ์ ในวงการแฟชั่นจากประสบการณ์ตรงที่สั่งสมประสบการณ์ตลอด 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย และการทำงานจริงในวงการแฟชั่นเป็นเวลาอีกหลายปี โดยเฉพาะไมนด์เซตการทำงานในสายแฟชั่นที่ไม่ควรยึดติดกับกรอบเดิม ในการสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่าง การเรียนรู้นอกตำราเรียน และการลงมือทำจริง เป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นการ Workshop จะทำให้นักศึกษาเข้าใจถึงกระบวนการทำงานจริงในอุตสาหกรรมแฟชั่น และพัฒนาผลงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ในทันที” คุณบิวตี้โรส กล่าว
ยกระดับ ‘อาชีพยุคใหม่’ ให้ทันทุกกระแส
คุณเบนซ์ ดีไซเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ “กรุยกราย” อธิบายเสริมอีกว่า การ Workshop ยังเน้นไปที่การฝึกให้นักศึกษาดึงเอาสิ่งรอบตัว กระแสสังคม และไวรัลต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบลายผ้า โดยใช้เทคนิคเดียวกับที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์กำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน โดยนักศึกษาจะได้รับคำแนะนำในการปรับปรุงผลงานจากทีมดีไซเนอร์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผลงานมีความสอดคล้องกับดีไซน์ของแบรนด์ และสามารถสื่อสารคอนเซ็ปต์ได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้ “การออกแบบแม่ลาย” และ “จัดวางลาย” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ ที่มีลายที่เป็น Signature อยู่ 4 แบบ คือ 1.ลายกราฟิกจาก AI 2.ลายวาดใน iPad 3.ลายวาดสีน้ำ และ 4.ลายคอลลาจ รวมถึงทริกและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์งานต่าง ๆ ของตัวเอง และพัฒนาตนเองให้ทันกับกระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโลกของแฟชั่นดีไซน์
“สิ่งที่น้อง ๆ จะได้รับคือ ได้ลองทำจริง ได้รับคำแนะนำจากทีมดีไซเนอร์ และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง ซึ่งจะทำให้ได้เห็นภาพมากขึ้นว่า สิ่งที่เรียนสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพได้จริง และทริกเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่สำคัญคือ การใช้ไอเดียให้เข้ากับโลกปัจจุบัน เพราะไอเดียเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” คุณเบนซ์ กล่าวทิ้งท้าย