
DPU มอบรางวัลอินฟลูเอนเซอร์ระดับมัธยมปลาย High School Influencer Stars พร้อมทุนการศึกษา เสริมหลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ ปั้นอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่สู่เส้นทางมืออาชีพในยุคดิจิทัล
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดพิธีมอบรางวัล High school Influencer Stars
ให้กับอินฟลูเอนเซอร์ระดับมัธยมปลาย ในโอกาสครบรอบ 35 ปี คณะนิเทศศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ เป็นประธานเปิด ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อ “The Next Gen Influencers: สร้างอนาคตด้วยพลังอินฟลูเอนเซอร์ยุคใหม่” มีวิทยากรมาร่วมแบ่งปันเทคนิคและประสบการณ์พร้อมแนะแนวทางการเติบโตอย่างมืออาชีพ โดยมี ผศ.ศิวนารถ หงษ์ประยูร คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก 35 สถาบันทั่วประเทศ และอาจารย์ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ณ ห้องประชุมไสว สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
สำหรับรางวัล High School Influencer Stars มีทั้งหมด 35 รางวัล แบ่งออกเป็น 3 ประเภท โดยผลการตัดสิน รางวัล Rising Star Award จำนวน 17 รางวัล และ รางวัล Star Award จำนวน 18 รางวัล ซึ่งผู้ได้รับรางวัลจะได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ ส่วนรางวัล Popular Vote (ขวัญใจมหาชน) จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ อันดับ 1 “ธัมมะรักษา กิจวัฒนธาดา” จากโรงเรียนปทุมเทพวิทยาการ และอันดับ 2 “วริสรา พันภิภักดิ” จากโรงเรียนสีกัน (วัฒนานันท์อุปถัมภ์) ซึ่งจะได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร โดยสามารถเลือกเรียนในคณะหรือวิทยาลัยใดก็ได้ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยทุกรางวัลจะได้รับ Gift Voucher จาก The Mall Lifestore Ngamwongwan นอกจากนี้ยังมี รางวัลพิเศษ Star Challenge ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสร้างคอนเทนต์จากการเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้และเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มของตนเอง โดย คอนเทนต์ที่มียอด Engagement สูงสุด จะได้รับ ทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร สามารถเลือกเรียนคณะหรือวิทยาลัยใดก็ได้ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เช่นกัน
ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้อินฟลูเอนเซอร์กำลังกลายเป็นอาชีพที่มีอิทธิพลมากต่อโลกธุรกิจ โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าสูงถึง 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 800,000 ล้านบาทไทย
คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างน้อย 10% ต่อปี ซึ่งในอนาคตอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท นอกจากนี้ อินฟลูเอนเซอร์ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ TikTok, Instagram, Facebook Reels และ YouTube ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน ในแง่ของประเภทคอนเทนต์พบว่ากลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ใน 4 หมวดหมู่หลักที่มีการเติบโตสูงและมีผู้ติดตามจำนวนมากได้แก่ สายความงามและเครื่องสำอาง ตามมาด้วย สายอาหาร, สายเทคโนโลยี และ สายการท่องเที่ยว
สำหรับปัจจัยสู่ความสำเร็จของอินฟลูเอนเซอร์นั้น ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวว่า อินฟลูเอนเซอร์ที่ต้องการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องมี 4 ทักษะสำคัญ ได้แก่ การสร้างแบรนด์ส่วนตัว, ความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย, ความรู้ในเนื้อหาที่นำเสนอ และ ทักษะด้านการตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างอิทธิพลและเพิ่มโอกาสในการทำงานร่วมกับแบรนด์ นอกจากนี้ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ๆ ก็เป็นทักษะเสริมที่ช่วยให้อินฟลูเอนเซอร์สามารถแข่งขันในตลาดได้
ด้าน ผศ.ศิวนารถ หงษ์ประยูร คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน การเป็นอินฟลูเอนเซอร์จึงไม่ใช่แค่เรื่องของความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายๆ ด้าน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถใช้พลังของสื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ และต่อยอดไปสู่เส้นทางอาชีพในยุคดิจิทัล โดยการประกาศรางวัลในครั้งนี้เริ่มจากโรงเรียนทำการเสนอชื่อนักเรียนที่มีผลงานโดดเด่น ได้รับการยอมรับในแวดวงออนไลน์ จนทำให้มียอดผู้ติดตามเป็นวงกว้าง
“หลังจากที่ได้รายชื่อจากโรงเรียนมาเราได้รับการสนับสนุนจาก Wisesight ที่ได้นำเครื่องมือ Social Eye มาใช้ในการวิเคราะห์เนื้อหา วัดผล และจัดอันดับผู้ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดบนโซเซียลมีเดีย และยังได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ Tellscore ซึ่งเป็นผู้นำด้าน Influencer ระดับประเทศ , Wisesight ผู้เชี่ยวซาญด้านการวิเคราะห์โซเชียลมีเดีย , Event Pass แพลตฟอร์มอีเวนต์ที่เชื่อมโยงครีเอเตอร์กับโอกาสทางธุรกิจ ผู้แทนจาก Workpoint และคณะนิเทศศาสตร์ ที่ร่วมกันพิจารณาการตัดสินรางวัลเพื่อให้เป็นรางวัลที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีผู้สนับสนุนอย่าง The Mall Lifestore Ngamwongwan และ ปันโปร ที่ร่วมกันผลักดันเยาวชนไทยให้ก้าวสู่โลกอินฟลูเอนเซอร์อย่างมืออาชีพ” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ กล่าว
ทั้งนี้ หลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ สำหรับผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบคิดเนื้อหา วางโครงเรื่อง และทำหน้าที่เบื้องหลังในการผลิตคอนเทนต์ เช่น ครีเอทีฟ นักเขียนบท และนักพัฒนาไอเดีย, อินฟลูเอนเซอร์ สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ มีผู้ติดตาม ทักษะการนำเสนอ กลยุทธ์ขยายฐานผู้ติดตามและสามารถต่อยอดสู่การสร้างรายได้ และ มีเดียโปรดักชัน ซึ่งครอบคลุมการออกแบบและจัดการสื่อ ทั้งด้านกราฟิก การตัดต่อ การบริหารจัดการงานโปรดักชัน รวมถึงการควบคุมเวทีและการรันคิว เพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำงานในสายการผลิตสื่อดิจิทัลได้อย่างมืออาชีพ โดยหลักสูตรถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัล ช่วยให้ผู้เรียนเลือกพัฒนาเส้นทางที่เหมาะสมกับความสามารถและความสนใจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วน คุณสุวิตา จรัญวงศ์ CEO & Co-founder Tellscore ผู้บุกเบิกการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ของไทย
อธิบายบทบาทของ Tellscore ว่า ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการหางานให้กับครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ โดยจับคู่แบรนด์ที่ต้องการทำการตลาดกับผู้สร้างคอนเทนต์ที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสทางอาชีพแล้ว ยังช่วยสร้างคอมมูนิตี้ที่อบอุ่นและสนับสนุนกันระหว่างคนรุ่นใหม่ ทั้งยังเป็นช่องทางให้แบรนด์สามารถเข้าใจความต้องการของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์และพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน
คุณสุวิตา เน้นย้ำว่า โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันได้อย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างค่านิยมที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ ดังนั้น ครีเอเตอร์มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของสังคมผ่านเนื้อหาที่พวกเขาสร้างขึ้น การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ไม่ใช่แค่เรื่องของรายได้หรืออาชีพ แต่ยังเป็นโอกาสในการสื่อสารแนวคิดและคุณค่าที่ส่งผลต่อผู้ติดตาม
คุณโสรยา วงษ์พัดอำพร TikTok เจ้าของช่อง Fern for Fun ที่มียอดวิวถล่มทลาย เน้นย้ำว่าอินฟลูเอนเซอร์ต้องรับผิดชอบต่อคอนเทนต์ที่สร้างขึ้น เพราะมีอิทธิพลต่อผู้ติดตาม ควรให้ความสำคัญกับ คุณค่าของเนื้อหามากกว่ายอดวิว และสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม พร้อมแนะนำให้เยาวชนทดลองทำคอนเทนต์ในหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นสายอาหาร เทคโนโลยี หรือสัมภาษณ์ เพื่อค้นหาความถนัดของตัวเองและพัฒนาการนำเสนอเพื่อให้คอนเทนต์มีความหมายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ