
“ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์” รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาวิชาชีพครู และบุคลากรทางการศึกษาแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community-PLC) ร่วมกับ “บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด” และ “มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย” เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุมไทยาจารย์ ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
“ดร.วัฒนาพร” กล่าวว่า การสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือ รวมพลังของครู และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เรียกว่า “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่คุรุสภาใช้ในการส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเกิดการรวมพลังของคนในวิชาชีพเดียวกัน แบ่งปันความคิด ความรู้ ทักษะ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อพัฒนาผู้เรียนและวิชาชีพ
สำหรับการสร้างความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ในการพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาแบบ PLC ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพอย่างเป็นระบบ และทั่วถึง
ทั้งยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา แบบ PLC ที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการอย่างแท้จริง และร่วมค้นหาวิธีปฏิบัติที่ดีสำหรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาแบบ PLC โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่าเป็นพันธสัญญาที่ร่วมกันในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยการยกระดับวิชาชีพทางการศึกษาให้มีสมรรถนะเป็นที่ยอมรับของสังคม และนานาชาติ
“หทัยรัตน์ อติชาติ” ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกับภาครัฐและสถาบันทางการศึกษาในการร่วมกันยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา ด้วยการกระจายทรัพยากรด้านการศึกษาสู่โรงเรียนที่ต้องการ การพัฒนาครูเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนให้เท่าทันต่อโลกาภิวัฒน์ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีหลายภาคส่วน การพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักการศึกษาไทยโดยเฉพาะครูผู้ปฏิบัติสามารถสร้างองค์ความรู้และความชำนาญในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างต่อเนื่อง
และการร่วมมือกับนักวิชาการด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในการร่วมถอดบทเรียนด้านการสอนที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีและนำมาสู่งานวิจัย ที่สามารถต่อยอดในการจัดการเรียนการสอนได้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของการสร้างองค์ความรู้ด้านการศึกษาของประเทศ
เชฟรอนมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่โครงการได้รับโอกาสในการร่วมมือกับคุรุสภาในการร่วมเสาะหา ให้ทุนสนับสนุนเพื่อร่วมพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีจากเครือข่ายชุมชนแห่งการเรียนรู้ครูและบุคลการทางการศึกษาที่มีวัฒนธรรมของการทำงานร่วมกัน พัฒนาทักษะทางวิชาชีพครูและผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ เฉกช่นเดียวกับภาคเอกชนที่มีกระบวนการพัฒนาบุคลากรและองค์กรอย่างต่อเนื่อง ที่ใช้ชื่อว่า Community of Practices (CoP)
“ปิยะบุตร ชลวิจารณ์” ประธานอำนวยการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ตระหนักถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย มูลนิธิได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างและต่อยอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาประเทศ
โดยในการออกแบบโครงการจึงได้นำหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาโดย สถาบัน Smithsonian สหรัฐอเมริกา และหลักสูตรด้านคณิตศาสตร์ ของสำนักพิมพ์ Tokyo Shoseki ประเทศญี่ปุ่นซึ่งที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ การพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งการจัดอุปกรณ์การเรียนรู้มาช่วยเสริมให้ครูได้นำไปปรับใช้
ปัจจุบันโครงการให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่โรงเรียนกว่า 650 โรงเรียนทั่วประเทศ และสร้างชุมชน แห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูมากกว่า 100 เครือข่าย ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักการศึกษาร่วมกันว่า การจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพในบริบทที่นักเรียนมีความพร้อมแตกต่างกันควรเป็นอย่างไร ก่อให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมที่สถานศึกษามุ่งจัดการศึกษาที่คาดหวังความก้าวหน้าในการเรียนรู้ที่วัดผลได้ของนักเรียนเป็นสำคัญ
การผนึกกำลังร่วมกันระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัย และโรงเรียนของคุรุสภา เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยทำให้การพัฒนาต้นแบบ PLC มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นแบบอย่างให้กับครูทั่วประเทศ และพัฒนาสู่งานวิจัยได้ต่อไป