ม.วลัยลักษณ์ร่วมประชุม SSAMESA พร้อมเอ็มโอยู 3 สถาบันดังที่มณฑลยูนนานประเทศจีน

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมประชุม “สมาพันธ์การศึกษาและการบริการทางการแพทย์แห่งเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้” The South and Southeast Asia Medical Education and Service Alliance (SSAMESA) พร้อมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนนักศึกษาและพัฒนางานวิจัยทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข และสังคมศาสตร์ กับ 3 สถาบันการศึกษาและการวิจัยชื่อดังของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาการเรียนการสอน ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ ม.วลัยลักษณ์ ได้เดินทางร่วมประชุมทางวิชาการ ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง “สมาพันธ์การศึกษาและการบริการทางการแพทย์แห่งเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้” The South and Southeast Asia Medical Education and Service Alliance (SSAMESA)

ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ Kunming Medical University (KMU) เมืองคุณหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน และมัลดีฟส์ ประเทศไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียเข้าร่วมมีประเทศจีนเป็นศูนย์กลาง เพื่อหารือและพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์และบริการสาธารณสุขระหว่างประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการประชุมดังกล่าวแล้วการเยือนมณฑลยูนนานในครั้งนี้ ม.วลัยลักษณ์ยังได้เดินทางไปยัง Kunming Medical University (KMU) เพื่อลงนามต่ออายุ MOU ทางการแพทย์กับมหาวิทยาลัย จากเดิมที่มีความร่วมมือเฉพาะสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ได้ขยายความร่วมมือ MOU ครอบคลุมไปยังสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สหเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์และวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติด้วย

โดยข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวนักศึกษาไทยจะได้เดินทางไปเรียนรู้ศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ของประเทศจีน ส่วนของนักศึกษาจีนจาก KMU จะได้มาเรียนรู้วงการแพทย์ของไทย ซึ่งจะช่วยเติมเต็มประสบการณ์ทางด้านการแพทย์และสร้างเครือข่ายระหว่างนักศึกษาที่ดีต่อกันในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ คณะผู้บริหารยังได้เดินทางไปยัง Yunnan Normal University เพื่อหารือการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรภาษาจีนศึกษา ของสำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ในรูปแบบ 3+1 ร่วมกัน นั่นคือนักศึกษาจะได้เรียนภาษาจีนตั้งแต่ปี 1-3 โดยอาจารย์ชาวไทยและจีนของ ม.วลัยลักษณ์ ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนที่ประเทศจีน ในมหาวิทยาลัย Yunnan Normal University และสหกิจศึกษาในสถานประกอบการในประเทศจีนเป็นเวลา 1 ปี และทาง Yunan Normal University จะส่งนักศึกษาจีนมาเรียนภาษาไทยที่ ม.วลัยลักษณ์ ปีละ 30 คน

นอกจากนี้ยังขยายความร่วมมือด้านการวิจัยไปยังสถาบันการวิจัยทางสังคมศาสตร์ของมณฑลยูนนาน หรือ Yunnan Academy of Social Sciences ในการสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยของคณาจารย์ทางด้านสังคมศาสตร์ ของ ม.วลัยลักษณ์กับสถาบันแห่งนี้อีกด้วย


“ทั้งหมดนี้คือการให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษา ด้วยพัฒนาทางด้านวิชาการไปยังนานาประเทศในทุกมิติ เพื่อตอกย้ำความพร้อมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการก้าวสู่ความเป็นสากล”