4 ทักษะ “ช่างเทคนิคการบิน”

แฟ้มภาพ
คอลัมน์ Education Ideas 
โดย ฮิวจ์ วนิชประภา

 

ทุกวันนี้ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังตื่นตัวเป็นอย่างมากในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องด้วยหลายประเทศในภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมและการผลิต ซึ่งอุตสาหกรรมการบินถูกยกให้เป็นอุตสาหกรรมหลักเพื่อการพัฒนาประเทศในภูมิภาคนี้ อย่างในสิงคโปร์ที่กำหนดแผนงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมการบิน ขณะที่ประเทศไทยกำหนดให้เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต หรือ new S-curve

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “ช่างเทคนิควิศวกรรม” หรือ “ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน” เป็นอีกหนึ่งสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของทั่วโลก โดยข้อมูลของ Pilot & Technician Outlook 2019-2038 ของบริษัทโบอิ้งคาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้าทั่วโลกจะมีความต้องการช่างเทคนิคด้านอากาศยานอีกกว่า 769,000 คนซึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแห่งเดียวมีสัดส่วนความต้องการถึง 35% ของความต้องการรวมทั่วโลก นั่นหมายความว่า “โอกาส” สำหรับคนที่ต้องการเติบโตในสายนี้ยังมีอีกมากมาย ขอเพียงแค่มี “ทักษะ” ที่เหมาะสมเท่านั้น

โรลส์-รอยซ์ ในฐานะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และอุตสาหกรรมการบิน จึงขอแนะนำ 4 ทักษะสำคัญที่ช่างเทคนิควิศวกรรมยุคนี้จำเป็นต้องมีอันประกอบด้วย ทักษะด้านความรู้ (hard skills) และทักษะด้านอารมณ์และสังคม (soft skills) ดังนี้

1) ทักษะด้านดิจิทัล-ทักษะการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการสื่อสาร การปฏิบัติงาน และการทำงานร่วมกัน หรือใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ นับเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากในยุคที่เทคโนโลยีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งการมีทักษะด้านนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ช่างเทคนิควิศวกรรมให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางกายภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2) ทักษะด้านเครื่องจักรกล-การทำงานซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ เครื่องบินจำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะด้านเทคนิคและวิศวกรรมเครื่องกลเข้ามาเกี่ยวข้อง และด้วยความแตกต่างของเครื่องยนต์ เครื่องบินแต่ละรุ่นและยี่ห้อที่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน จึงต้องมีการใช้เครื่องมือกลพิเศษ (special tools) ที่ออกแบบมาเพื่อใช้เฉพาะตัว

นอกจากนี้ การเติบโตของเทคโนโลยีและการคำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหลัก จึงก่อให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ขณะเดียวกัน ช่างเทคนิควิศวกรรมก็ต้องหมั่นเพิ่มเติมความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกลต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความปลอดภัยของเครื่องยนต์

3) ทักษะด้านไฟฟ้า-อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญสำหรับช่างเทคนิควิศวกรรมในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องบิน นอกจากระบบไฟฟ้าที่ใช้ในเครื่องโดยทั่วไปแล้ว ในอนาคตเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในยุคของการพัฒนาการคมนาคมขนส่งและระบบพลังงานใหม่ในอนาคต

เพราะการที่สังคมทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่ได้มีการเปิดตัวเครื่องบินไฟฟ้าเมื่อไม่นานมานี้ จึงยิ่งเพิ่มโอกาสที่ช่างเทคนิควิศวกรรมซึ่งมีหน้าที่หลักในการบำรุงรักษาเครื่องบินจะได้ใช้และพัฒนาทักษะด้านไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นในอนาคต

4) ทักษะด้านอารมณ์และสังคม-โดยเฉพาะการสื่อสารและความมีวินัย เนื่องจากการสื่อสารเป็นอีกทักษะหนึ่งที่จำเป็นอย่างมากในสายอาชีพนี้ โดยเฉพาะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เพราะเป็นภาษาสากลของประเทศที่เป็นต้นกำเนิดนวัตกรรมและเทคโนโลยี อย่างโรลส์-รอยซ์เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่สื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก ฉะนั้น ช่างเทคนิควิศวกรรมจึงจำเป็นต้องมีทักษะในการใช้เพื่อให้สามารถสื่อสาร อ่านคู่มือช่าง เขียนรายงานการซ่อมตามมาตรฐาน และสามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การจะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ MRO ในภูมิภาค นอกจากจะต้องมีทักษะด้านความรู้และการสื่อสารตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การมีวินัยก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความปลอดภัย เพราะเรื่องเครื่องบินความปลอดภัยมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง คนที่มาเป็นช่างซ่อมจึงต้องมีวินัย โดยเริ่มจากใส่ใจในความปลอดภัยของตัวเองก่อน

อีกทั้งภาครัฐบาลควรขยายหลักสูตรด้านวิศวกรรมการบินและผลิตช่างเทคนิคด้านนี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องเข้ามาลงทุนในส่วนนี้เนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมือในอุตสาหกรรมการบินมีมูลค่าสูงกว่าพันล้านบาท หากจะซ่อมเครื่องยนต์ก็ควรได้ลองศึกษาจากเครื่องยนต์จริง โดยประสานงานกับสายการบินเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสและฝึกอบรมจากเครื่องบินจริง เพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงานด้วย