EDUCA หนุนแนวคิด SLC พัฒนาเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21

EDUCA ชูแนวคิด “โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้”(School as Learning Community-SLC) เพื่อร่วมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ การสืบสอบ และความร่วมมือรวมพลัง ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะให้เด็กไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกในอนาคต

“ดร.นิภาพร กุลสมบูรณ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของ SLC คือ วิสัยทัศน์ ปรัชญา และระบบกิจกรรม ซึ่งโรงเรียนต้องสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ที่ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีสิทธิในการเรียนรู้อย่างเสมอภาค

รวมถึงเตรียมพร้อมสังคมสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนล้วนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ทั้งนักเรียน ครู ผู้อำนวยการ ผู้ปกครอง และชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วม โดยใช้กิจกรรมการเปิดชั้นเรียนให้ทุกคนได้สังเกตการณ์ นำไปสู่การสะท้อนแนวคิด (reflection) เกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อช่วยครูให้สามารถพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนได้

“แนวคิด SLC สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ยกตัวอย่าง ครูที่ปรับตัวเองให้เป็นผู้เรียนรู้ เปิดกว้างพร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ และกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง ด้วยการทำงานร่วมกับเพื่อนครู ผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครอง และเน้นการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม ทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียนรู้ มีความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ กล้าคิด กล้าแสดงออก และพร้อมที่จะทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ”

“ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิด SLC สามารถสร้างนักเรียนให้มีความคิดสร้างสรรค์ (creativity) การสืบสอบ (inquiry) และความร่วมมือรวมพลัง (collaboration) ซึ่งเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในอนาคต”

“ดร.นิภาพร” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยมีโรงเรียนหลายแห่งได้นำแนวคิด SLC ไปใช้เป็นนโยบายของโรงเรียน ทั้งโรงเรียนวัดใหม่กระทุ่มล้ม,โรงเรียนพุทธจักรวิทยา และโรงเรียนสาธิตพัฒนา ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศให้การยอมรับแนวคิด SLC อย่างแพร่หลาย ทั้งเกาหลีใต้, จีน, ไต้หวัน, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และเม็กซิโก

“โดยมีการจัดตั้งเป็นเครือข่ายนานาชาติ ภายใต้ชื่อ The International Network for School as Learning Community และได้จัดการประชุมนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ในประเทศสมาชิก เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์และกรณีศึกษาโรงเรียนแนวคิด SLC ของแต่ละประเทศอีกด้วย”

“สำหรับการประชุมนานาชาติโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ในปีที่ 7 นี้จะถูกจัดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้แนวคิดการสืบสอบและความร่วมมือรวมพลัง ทั้งในห้องเรียนและห้องทำงานของครู (Inquiry and Collaboration both in Classroom and Staff Room) ในงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู(EDUCA 2019) ระหว่างวันพุธที่ 16-วันพฤหัสบดีที่ 17 ต.ค. 2562 ที่จะถึงนี้ ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมี ศ.มานาบุ ซาโต ผู้คิดค้นแนวคิด SLC มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิด SLC และยังมีวิทยากรชั้นนำระดับโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้”

ถึงตรงนี้ “ดร.นิภาพร” บอกว่า การที่จะทำให้โรงเรียนมีแนวคิด SLC เกิดขึ้นได้จริง ต้องอาศัยความมุ่งมั่น และดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายเดียวกันของผู้คนในโรงเรียน ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู นักเรียน และชุมชน สร้างความสำเร็จที่ยั่งยืน ทั้งผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ ความสุข


“และความร่วมมือรวมพลัง 3 ปี คือระยะเวลาที่ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกยืนยันว่า ถ้าโรงเรียนเอาจริง ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเล็ก โรงเรียนใหญ่ โรงเรียนแบบใดก็สำเร็จ สร้างทั้งคุณภาพ และความเสมอภาคในการเรียนรู้แก่นักเรียนทุกคนได้อย่างแน่นอน”