บทบาท “ครู” ในอนาคต ทันโลก-ใช้ AI เป็นเครื่องมือ

ภาพ:SCMP Graphics

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบันในทุกด้าน ไม่เว้นแม้กระทั่งในโลกของการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาการสอนนักเรียนเป็นหน้าที่เฉพาะของคนที่เป็นครู แต่ด้วยการเติบโตอย่างก้าวหน้าของ AI ทำให้หลายคนเกิดคำถามชวนคิดขึ้นมาว่า อาชีพครู ยังจะเป็นอาชีพที่ทำโดยมนุษย์ในอนาคตหรือไม่

“ธานินทร์ เอื้ออภิธร” ผู้บริหารโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับคำถามนี้ว่า มีความเป็นไปได้ เพราะ AI พิสูจน์แล้วว่ามีความฉลาด จนสามารถเอาชนะความฉลาดของสมองมนุษย์ได้ ดูได้จากกรณีตัวอย่างของ “อี เซดอล” เซียนเล่นโกะหรือหมากล้อม ชาวเกาหลีใต้ ที่สั่งสมความรู้ และฝึกฝนฝีมือมานานนับสิบปี จนมาอยู่ที่ระดับ 9 เรียกว่าเป็นขั้นสูงสุด แต่สุดท้ายถูกเอาชนะด้วย “อัลฟาโกะ” (AlphaGo) ซึ่งเป็น AI ที่พัฒนาโดยบริษัท ดีปมายด์ (Deep-Mind) ในกลุ่มบริษัท กูเกิล

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่า AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นในเพียงชั่วข้ามปีสามารถเอาชนะคนที่มีความรู้ และทักษะที่ได้จากการบ่มเพาะมาเป็นสิบ ๆ ปีได้ ดังนั้น การเรียนการสอนในแบบดั้งเดิมก็กำลังถูกท้าทายจากเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน

แต่หากมองในด้านดี AI ยังไม่สามารถมาแทนบทบาทของครูได้ทั้งหมด เพราะวัฒนธรรมไทยยังให้ความสำคัญกับผู้เป็นครู เพราะการเรียนการสอนทำให้เด็กเคารพครู ทั้งยังมองครูเป็นที่พึ่ง เพราะเป็นผู้ที่มีอายุ และประสบการณ์มากกว่า

“ดังนั้น ข้อกังวลในเรื่อง AI มาแทนที่ครู จึงสามารถลดทอนได้ด้วยการที่ครูต้องเรียนรู้ที่เท่าทันโลก แต่ครูจะต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่มีอยู่ในทุกมุมโลก พร้อมสอดแทรกความรู้ใหม่ ๆ และปรับมุมมองต่อกระบวนการเรียนการสอนเสียใหม่ ด้วยการแนะให้เด็กใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นช่องทางการเสาะหาความรู้ มุ่งการคิดเชิงวิเคราะห์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

“ธานินทร์” กล่าวด้วยว่า AI จะกลายมาเป็นตัวช่วยของครูมากขึ้นในอนาคต เช่น ลดเวลาการทำงานของครู เช่น เรื่องการตรวจการบ้าน หรือการตรวจข้อสอบ และช่วยสร้างสรรค์เนื้อหาสำหรับการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ

“หากครูทำงานร่วมกับ AI ได้จริง ข้อเด่นของ AI อาจสำคัญน้อยลง และตามทฤษฎีการเรียนรู้ระบุว่า เด็กมีความหลากหลายในการทำความเข้าใจ และมีความถนัดต่างกัน เนื่องจากมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นวินัย การตระหนักในหน้าที่ รวมถึงความสนใจในการเรียน จึงไม่ใช่เด็กทุกคนสามารถเรียนผ่าน AI ได้”

จึงกล่าวได้ว่าการเรียนการสอนที่เล็งผลได้ในแบบไทย คือ การหาจุดร่วมจากครูและเทคโนโลยี โดยครูผู้สอนปรับตัวเองให้ทันยุคสมัย และมองผลลัพธ์ถึงการเรียนรู้แนวใหม่ที่เหมาะกับเด็กยุคใหม่ และโลกยุคใหม่ พร้อมติดอาวุธเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเรียนการสอน