กลยุทธ์ 3 ป. ปฏิรูปการศึกษาไทยยกกำลังสอง

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

รมว.ศธ. จัดงาน “ยกกำลังสองการศึกษาไทย สู่ความเป็นเลิศ” เผยแผนปฏิรูป ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน และเปิดกว้าง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

องค์ความรู้ในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงความต้องการของตลาดงานก็เปลี่ยนแปลงไปแต่ระบบการศึกษาไทยยังปรับตัวได้ไม่เร็วพอ ด้วยเหตุนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศนำพาการศึกษาไทยสู่ยุคใหม่ เตรียมพร้อมสร้างทุนมนุษย์ (Human Capital) ให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นเลิศและยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา จากเดิมที่ทำให้เด็กไทยมีความรู้และความคิดแบบ fixed mindset เป็นการศึกษาที่จะช่วยให้เกิดระบบความคิดแบบ growth mindset โดยก้าวข้ามระบบการศึกษา ไปสู่การสร้างระบบนิเวศของการศึกษาหรือ education eco-system ซึ่งคุณภาพสำคัญกว่าแค่ปริมาณ เพิ่มศักยภาพนักเรียนรายบุคคล พัฒนาครูให้ทันโลก ปั้นผู้บริหารสู่ CEO โรงเรียน เพื่อความเป็นเลิศ เพื่อสร้างระบบนิเวศทางการศึกษาให้สมบูรณ์

ลดการบ้าน – ลดงานเอกสารครู

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การยกกำลังสองการศึกษาไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการนำภาคเอกชนมามีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมการพัฒนากำลังคนในทุกมิติ สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนในการเตรียมกำลังคนรุ่นใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม new s-curve

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ควรมีการลดจำนวนการบ้านของเด็กนักเรียน เพื่อให้เด็กมีเวลาพัฒนาความสามารถด้านอื่น ๆ ตามพรสวรรค์ ทั้งนี้การเพิ่มการสอนนอกห้องเรียน เพื่อเรียนรู้จากประสบการจริงก็สำคัญ ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ภาษาต่างประเทศ และการเรียนรู้กับชุมชน ขณะเดียวกันต้องลดภาระงานเอกสารของครู เพื่อให้ครูมีเวลาพัฒนาตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ และกระจายศูนย์อบรมพัฒนาครูในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้อเสียเวลาเดินทาง”

ปลดล็อก-ปรับเปลี่ยน-เปิดกว้าง

“ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จุดประสงค์ของการสร้างระบบการศึกษายกกำลังสองคือ เพื่อให้เกิดการศึกษาที่มีความเป็นเลิศ (education for excellence) โดยการศึกษาจะต้องมีความยืดหยุ่นเท่าทันกับบริบทภายนอก ตัดขอบเขต (boundary) ทางความคิดออกไป และนำคอนเทนต์จากภาคธุรกิจหรือภาคเอกชนมาปรับใช้ในบทเรียน

“ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของการรับหน้าที่บริหารการศึกษาของประเทศไทยผมได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับปัญหาของการศึกษาและบริบทตามสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ พูดคุยกับนักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครอง รวมถึงการเปิดดูสมุดและหนังสือของเด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาของปัญหาที่การศึกษาไทยยังคงอยู่กับที่ หลังจากตกผลึกความเข้าใจในทุกด้านของปัญหาแล้ว ผมพร้อมที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยอย่างเร็ว ด้วยนโยบาย 3 ป. คือ ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง เพื่อยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ”

‘ปลดล็อก’กลไกขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วนนำภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม จับมือเป็นรูปธรรมเพื่อปฏิรูปการศึกษาสู่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริงและยั่งยืน ‘ปรับเปลี่ยน’การเข้าสู่ตำแหน่งครู สรรหาคนเก่งมาเป็นครูปรับเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา และ’เปิดกว้าง’ในการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยต่อยอดจากมาตรฐานด้านคุณภาพเพื่อนำพาโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศตามบริบทแวดล้อมและนำพาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

แท้จริงแล้วทั้งนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษามีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเอง เพียงแต่ต้องสร้างระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในแบบฉบับของตัวเองจนเป็นทุนมนุษย์ที่เป็นเลิศ

3 ศูนย์ สร้างทุนมนุษย์ที่เป็นเลิศ

รมว.ศธ.สร้าง 3 ศูนย์ ให้เป็นกลไลของขับเคลื่อนการศึกษาไทยยุคใหม่ ไปสู่การเป็นฐานทุนมนุษย์ที่เป็นเลิศ ประกอบด้วย HCEC (Human Capital Excellence Center) หรือศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นหน่วยพัฒนาทุนมนุษย์ (HR) ของประเทศเพื่อตอบโจทย์อาชีพ อุตสาหกรรม และธุรกิจ, DEEP (Digital Education Excellence Platform) หรือแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ เป็นหน่วยบริหารจัดการองค์ความรู้ (KM) ของประเทศ เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต และ EIDP (Excellence Individual Development Plan) หรือแผนพัฒนารายบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาศักยภาพบุคคล (Human Potential : HP) เพื่อตอบโจทย์เส้นทางความสำเร็จของชีวิต

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

“ณัฏฐพล” อธิบายว่า ในปี 2564 จะมีการเพิ่ม HCEC ในโรงเรียน จำนวน 185 ศูนย์ และอีก 100 ศูนย์ ในสถาบันการอาชีวศึกษา เน้นทำงานร่วมกับสถานประกอบการภาคเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา

เราจะเปลี่ยนต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมครูตามที่ต่าง ๆ ให้เป็นการลงทุนในการพัฒนาศักยภาพครูและนักเรียนผ่านศูนย์ HCEC เน้นสร้างครูให้มีแนวคิดแบบ growth mindset สามารถจัดรูปแบบการสอนของตัวเองให้ใหม่อยู่เสมอ ส่วน HCEC ของอาชีวศึกษา สร้างขึ้นเพื่อพัฒนานักเรียนอาชีวะและบุคคลทั่วไป ใช้ในการ upskill และ reskill

ในขณะที่ DEEP เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ใน www.deep.go.th ที่เชื่อมโยงครู นักเรียน และภาคเอกชน โดยภาคเอกชนช่วยเติมความรู้เข้าไปในแพลตฟอร์ม เพื่อพัฒนาคนให้ตรงตามความต้องการได้ของตลาดงาน ภายใต้ DEEP มี Teaching Resource Platform (TRP) ที่ครูสามารถนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอน นอกจากนั้นนักเรียนและบุคคลทั่วไปสามารถเรียนออนไลน์ผ่าน DEEP ได้ และมีการบันทึกข้อมูลรายบุคคลผ่าน ID ช่วยในเรื่องสร้างแผนพัฒนาส่วนบุคคล โดยภายในปี 2564 เราจะผลักดันให้เกิดการใช้งาน DEEP ทั่วประเทศ

ส่วน EIDP ช่วยให้นักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา พัฒนาศักยภาพหรือความเป็นเลิศในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการประเมิน จากที่ประเมินเพื่อตัดสินเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ลดการสอบของนักเรียน และลดงานเอกสารของครู เตรียมความพร้อมให้ผู้บริหารเป็น CEO รุ่นใหม่ของสถานศึกษา เพื่อสร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้กับการศึกษาไทย


“ผมเชื่อว่าหากทุกคน ทุกภาคส่วน ร่วมมือกัน การศึกษาของเราจะก้าวทันโลกและแข่งขันได้ในระดับสากลแน่นอน มาจับมือแก้ปัญหาการศึกษาไทยไปด้วยกัน”