อว.หนุนนักวิจัยในมหา’ลัย ทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้ 100%

อว.ขับเคลื่อนโครงการ Talent Mobility สนับสนุนนักวิจัยในมหาวิทยาลัย ทำงานกับภาคเอกชนได้ 100% นำผลงานขอตำแหน่งทางวิชาการได้

วันที่ 18 เมษายน 2565 ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รอง.ปอว.) กล่าวในพิธีเปิด โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอแนวทางการขอตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงาน Talent Mobility ว่า โครงการ Talent Mobility เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ด้วยท่านรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งเดิมคือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เล็งเห็นถึงการพัฒนาประเทศที่ต้องขับเคลื่อนภาคเอกชนและการจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของเอกชนเข้มแข็งนั้น ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมาก

นักวิจัยจะสามารถทำให้อุตสาหกรรมของประเทศก้าวหน้าได้ แต่นักวิจัยประมาณ 90% นั้ยอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ในภาคเอกชน โจทก์ที่สำคัญคือเราจะทำยังไงให้นักวิจัยที่อยู่ในภาคมหาวิทยาลัยไปสู่ภาคเอกชนได้

จึงทำให้เกิดโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ สิ่งที่ อว. กำลังทำ คือ เราจะทำยังไงให้นักวิจัยที่อยู่ในภาคมหาวิทยาลัย สามารถปฏิบัติหน้าที่ในภาคเอกชนได้เต็มเวลา สามารถนำผลงานมาประเมิน ตำแหน่งทางวิชาการได้ ทุกวันนี้ talent mobility เรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป้าหมายที่เราต้องการ คือ อาจารย์สามารถไปทำงานในภาคเอกชนได้ 100% และทางมหาวิทยาลัยต้องอนุญาตให้ไปโดยถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อยหนึ่งปี

ซึ่งอยากให้เกิดขึ้นจริง ๆ ปรัชญาอุดมศึกษาไทยเราต้องการพัฒนากำลังคนโดยสถาบันอุดมศึกษาต้องตอบโจทย์ประเทศ สามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับประเทศได้ โดยอาศัยการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าร่วมกัน

ADVERTISMENT

ศ.ดร.ศุภชัยยังกล่าวถึงการขอตำแหน่งวิชาการด้วยผลงานด้านอุตสาหกรรมว่า วิธีการขอตำแหน่งวิชาการในปัจจุบันมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะงานทางด้านอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ประจำปีพุทธศักราช 2564 สามารถขอตำแหน่งวิชาการได้ผ่านทาง 2 หมวดด้วยกัน คือ หมวดแรก การแต่งตั้งอาจารย์ประจำให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการทั่วไป

ซึ่งรวมงานอุตสาหกรรมอยู่ด้วยและหมวดที่สอง การแต่งตั้งอาจารย์ประจำให้ดำรงตำแหน่งเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นข้อกำหนดใหม่ที่เข้ามาในปี 2564 ตอบรับนโยบายของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปัจจุบันซึ่งต้องการให้มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการขอตำแหน่งทางวิชาการรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงได้ง่าย

ADVERTISMENT

สามารถต่อยอดพัฒนาคุณภาพทางวิชาการและนวัตกรรมของประเทศให้มีความหลากหลาย และสามารถก้าวกระโดดทันต่อยุคสมัยใหม่ สำหรับการขอตำแหน่งวิชาการทางด้านอุตสาหกรรมสามารถขอได้ทั้งสองหมวดด้วยกัน การขอตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้านที่เป็นข้อกำหนดใหม่ในปี 2564 แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.ผลงานรับใช้สังคม 2.ศิลปะสุนทรียะ 3.ผลงานการสอน 4.ผลงานนวัตกรรม และ 5.ผลงานทางด้านศาสนา

ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาจากประกาศ ก.พ.อ.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564 และนำมาขอตำแหน่งทางวิชาการได้