ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเชีย-แปซิฟิก 46 ประเทศเข้าร่วม

ตรีนุช เทียนทอง
ตรีนุช เทียนทอง

กระทรวงศึกษาธิการเปิดรายละเอียดเป็นเจ้าภาพร่วม จัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีผู้แทน 46 ประเทศเข้าร่วม เน้นถกประเด็นเร่งฟื้นฟูการศึกษา มุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG4) วันที่ 5-7 มิ.ย.นี้

วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยถึงการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 ว่า

กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับองค์การยูเนสโก และได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 หรือ APREMC II ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร

โดยในวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทรงเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (การศึกษา 2030) ครั้งที่ 2 (APREMC II) และนิทรรศการ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ

สำหรับจุดเน้นของการประชุมในครั้งนี้เป็นการตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนที่คาดการณ์ไม่ได้ และมีผลกระทบต่อการศึกษาทั้งในระดับโลกและภูมิภาค รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียน ส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา

จะมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกยูเนสโกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จำนวน 46 ประเทศ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมการประชุมฯ โดยรูปแบบการจัดประชุมฯ เป็นแบบผสมผสาน ประกอบด้วย การประชุมในสถานที่จริง (on-site) และการประชุมผ่านระบบทางไกล (online)

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทูตสันถวไมตรีของยูเนสโก ด้านการเสริมสร้างศักยภาพของเด็กชนกลุ่มน้อยด้านการศึกษา และอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม และนิทรรศการด้านการศึกษา ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานของไทยด้านการศึกษาได้ร่วมกันจัด

การประชุม APREMC II แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่

1.การประชุมเชิงวิชาการ (Technical Segment) จัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2565 เพื่อนำเสนอสถานะและความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการอภิปรายของผู้บริหารระดับสูงด้านการศึกษา นักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญนักวิจัย ฯลฯ ภายใต้หัวข้อย่อยด้านการศึกษา

2.การประชุมระดับสูง (High-Level Segment) ระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2565 เพื่อนำเสนอผลลัพธ์จากการอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ ต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้ง การเสวนาโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtables) และการรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2565 (Bangkok Statement 2022)

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า หัวข้อหลักของการประชุม APREMC II คือ “Education Recovery and Transformation towards more Responsive, Relevant and Resilient Education Systems : Accelerating progress towards SDG4 – Education 2030” (การฟื้นฟูและการเปลี่ยนด้านการศึกษาเพื่อมุ่งสู่ระบบการศึกษาที่ตอบสนอง เชื่อมโยง และยืดหยุ่นมากขึ้น : การเร่งดำเนินความก้าวหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 การศึกษา 2030)

มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษาของวาระการศึกษา 2573 และเป็นเวทีสำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงนักวิชาการ การศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในภูมิภาค ที่จะร่วมกันหารือเกี่ยวกับประเด็นสิ่งท้าทาย และความสำคัญของการจัดการศึกษาที่ต้องดำเนินการในภูมิภาคและอนุภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะนำไปสู่การฟื้นฟูและการจัดการวิกฤตการเรียนรู้ การพลิกโฉมการศึกษาและระบบการศึกษาเพื่อให้มีความเท่าเทียม ครอบคลุม เชื่อมโยง ตอบสนองและยืดหยุ่น ส่งผลต่อศักยภาพของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนี้ ภายหลังจากการประชุมจะมีรับรองถ้อยแถลงกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2565 (Bangkok Statement 2022) ด้วย ในถ้อยแถลงดังกล่าวจะกำหนดแนวทางเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยจะได้แลกเปลี่ยนแนวทางที่ประสบความสำเร็จกับที่ประชุม และในขณะเดียวกันจะพิจารณาแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ตลอดจนแนวคิดในการจัดการศึกษาที่ต้องปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาท่ามกลางบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และปัญหาท้าทายมากมาย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการศึกษา ตลอดจนยังเป็นการประสานความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 (SDG4 Education 2030)

ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัด การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality) ครอบคลุม (Inclusion) เท่าเทียม (Equity) และมีความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) ตลอดชีวิตของเด็กและเยาวชน อันจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้ทักษะ การเป็นพลเมืองโลก ทักษะของศตวรรษที่ 21 และเป็นกำลังคนที่มีคุณภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย รวมถึงมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกในอนาคตต่อไป