เด็กติดโควิดเฉลี่ย 200 คนต่อวัน ศธ. ยังไม่สั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ

นักเรียน

กระทรวงศึกษาธิการ เผยเด็กติดโควิดเฉลี่ยเกือบ 200 คนต่อวัน ยังไม่สั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศ เชื่อเป็นการระบาดคลื่นลูกสุดท้าย ส่วนกรณีกรุงเทพคริสเตียนติดวันละ 25 คน พบจุดแพร่เชื้อคือโรงอาหาร ไม่ได้มาจากในห้องเรียน

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยหลังจากการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานการติดเชื้อมากขึ้นในผู้เรียน

โดยสถานการณ์ภาพรวมของประเทศตั้งแต่เปิดเทอมช่วงวันแรก ๆ มีเด็กติดเชื้อประมาณเกือบ 200 คนต่อวัน แล้วก็ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งก่อนวันที่ 15 มิ.ย. มีตัวเลขติดเชื้อหลักสิบคนต่อวัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อยต้นๆ จนพุ่งขึ้นมาเป็นเกือบ 200 คนต่อวันในวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 ก.ค.) ซึ่งจะเห็นได้ว่าเด็กติดเชื้อกันมากขึ้นเป็น 2 เท่าต่อวัน

ร.ร.บุญวาทย์ จ.ลำปาง ติด 102 คน

ส่วนกรณีของโรงเรียนบุญวาทย์ จ.ลำปาง ที่ประกาศแจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนให้เปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ 100% ก่อนหน้านั้น พบว่าไม่ได้เป็นการแพร่ระบาดที่เกิดระหว่างการเรียนในห้องเรียน แต่เป็นการแพร่ระบาดในการทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง หรือกิจกรรมในห้องแอร์ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 200 คน มีนักเรียนติดเชื้อ 84 คน ครูติดเชื้อ 18 คน รวมเป็น 102 คนซึ่งในจำนวนนี้มีครู 1 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล นอกนั้นไม่มีอาการรุนแรง สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ เป็นผลของการได้รับวัคซีน ซึ่งหากได้รับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป จะสามารถลดการป่วยรุนแรงได้มาก

กรุงเทพคริสเตียนติดโควิดวันละ 25 คน

ในส่วนของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ข้อมูลที่ถูกต้องคือยอดสะสมของผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 2565 จำนวนประมาณ 700 คน เป็นการติดเชื้อทุกวัน จำนวนไม่เกิน 20 คนต่อวัน จนกระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมายอดนักเรียนติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 25 คนต่อวัน ช่วงแรกๆ ติดเป็นห้องๆ แต่ตอนนี้เริ่มติดคละห้อง ทางโรงเรียนจึงได้มีการสอบสวนโรคร่วมกับกรมอนามัย พบว่าจุดแพร่ระบาดเชื้ออยู่ที่โรงอาหาร ซึ่งการจัดการยังไม่รัดกุมเท่าที่ควร

ขณะเดียวกันการดำเนินตามแนวทาง Sealed Route ยังมีความหย่อนยานอยู่ระหว่างเดินทางกลับบ้าน นักเรียนได้มีการทำกิจกรรมรวมกลุ่มหลายรูปแบบ หรือเดินทางไปสถานที่อื่นก่อนกลับบ้าน เมื่อติดเชื้อแล้วจึงมาแพร่ระบาดในโรงเรียน รวมถึงนำไปติดคนในครอบครัวด้วย สรุปแล้วไม่ได้เป็นการติดเชื้อจากการนั่งในห้องเรียน

พลเอกประยุทธ์ กำชับใส่หน้ากาก

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะเน้นย้ำกับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ในสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนี้ คือ ให้ดำเนินการตามมาตรการ 6-6-7 อย่างเข้มงวด โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กำชับเป็นพิเศษในเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่างจากผู้อื่น ในส่วนของโรงอาหารขอให้ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวทั้งหมด งดการพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร และสวมหน้ากากอนามัยทันทีที่รับประทานอาหารเสร็จ ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ปกครองดูแลการเดินทางไป-กลับของนักเรียน ให้เป็นระบบปิดมากที่สุดคือเป็นไปได้ให้กลับบ้านทันที

ยังไม่สั่งปิด ร.ร.ทั่วประเทศ

เมื่อถามว่าจะมีการสั่งปิดโรงเรียน เปลี่ยนไปเรียนออนไลน์หรือไม่นั้น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำว่า ขณะนี้ยังเน้นการเปิดเรียน on site ตามปกติทั่วประเทศ ส่วนการเรียนออนไลน์หรือการเรียนทางไกลถือเป็นแผนสำรอง

ซึ่งกรณีของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยประกาศให้เรียนออนไลน์นั้น เนื่องจากมีการติดเชื้อแบบกระจายและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จึงใช้ช่วงวันหยุดยาวปิดเรียนตัดตอนโรคก่อน แล้วจึงจะเริ่มนับหนึ่งใหม่หลังจากนั้น ซึ่งมีหลายโรงเรียนที่ใช้วิธีนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการของโรงเรียนที่สามารถทำได้

“ผมคิดว่า หลายๆ โรงเรียนน่าจะมีจำนวนเด็กติดเชื้อหลักหน่วย ไม่ใช่จำนวนมาก ถ้าโรงเรียนไหน พบเด็กติดเชื้อก็ให้ประสานกับสาธารณสุขจังหวัดนำเด็กออกมารักษา ส่วนเด็กที่เหลือในห้องก็เรียนต่อได้ แต่ถ้าในห้องเรียนมีการติดมากกว่า 5 คนขึ้นไป ต้องพิจารณาว่าจะจัดการอย่างไร จะปิดเป็นรายห้องหรือไม่ หรือถ้าติดมาแบบกรุงเทพคริสเตียน ก็อาจทำในลักษณะเดียวกัน”

ทั้งนี้ ยังมีข้อกังวลว่า การเรียนในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ จะเสี่ยงแพร่เชื้อหรือไม่ เราก็มีวิธีการเสนอมาตลอดว่า ทุก2 ชั่วโมง ให้มีการปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศออก น่าจะคลายกังวล ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ ขึ้นอยู่กับการรักษาระยะห่าง การทำกิจกรรม การพูดคุยต่างๆ ให้ระมัดระวัง ก็จะช่วยป้องกันติดโควิดได้

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สถานการณ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข เชื่อว่าการระบาดระลอกนี้ เป็นการระบาดระลอกเล็ก อาจจะเป็นคลื่นสุดท้าย ซึ่งหวังว่ายอดผู้ติดเชื้อจะมีไม่มาก และมีเพียงจังหวัดใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้นทุกจังหวัดต้องเข้มงวด ระมัดระวังป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ ศธ.จะเร่งฉีดวัคซีน เข็มที่ 3 ให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี โดยเร็ว


ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว 20.78% ทั้งนี้หากนักเรียนคนใดฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 3-4 เดือน สามารถมารับวัคซีนเข็มที่ 3 ได้ทันที เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อไป