ถก ธปท.รับมือบาทแข็งไม่หยุด เคาะ 5 แนวทางช่วยผู้ส่งออก-

ผู้ส่งออกป่วน “บาทแข็ง” หลุด 32 บาทต่อดอลลาร์ วิ่งหารือผู้ว่าการแบงก์ชาติ สรุป 5 แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ด้าน ธปท.ส่งสัญญาณพยุงบาทต่อเนื่องดันทุนสำรอง-ฟอร์เวิร์ดพุ่ง จับตาต่างชาติเทขายหุ้น-โยกเข้าบอนด์ พบต้นปีซื้อสะสมกว่า 5.4 หมื่นล้าน นักวิเคราะห์ชี้ต่างชาติเก็งกำไรบาทแข็งค่าต่อ กสิกรฯ เผยมีสิทธิ์แตะ 31.50 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยวันที่ 12 ม.ค. 2561 เปิดตลาดที่ 31.95 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 57 ซึ่งแข็งค่าต่อเนื่อง จากระดับปิดตลาดเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ปิดตลาดที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยพบว่าสกุลดอลลาร์ยังคงเจอแรงขายต่อเนื่องเมื่อเทียบกับยูโร ซึ่งส่งผลให้สกุลเอเชียแข็งค่าขึ้นทุกสกุลเงิน

ส่งออกถก ธปท.รับมือบาทแข็ง

นางสาวกัณญภัค ตันติพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผย หลังเข้าหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า จากกรณีที่เงินบาทแข็งค่าหลุด 32.00 บาท/ดอลลาร์ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ อุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่ง 2 กลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณ 17% ของมูลค่าการส่งออกของไทยปี 2560 อยู่ที่ 231,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“เงินบาทที่แข็งค่ากระทบกับรายได้ธุรกิจมาตั้งแต่ปีก่อน พอตอนนี้ต่ำกว่า 32.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐแล้ว เราก็ต้องปรับตัวให้ได้ อย่างตอนปี 2556 ที่ค่าเงินบาทลงไปลึกถึง 28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐเราก็ผ่านมาแล้ว ข้อสำคัญคือค่าเงินไม่ควรจะผันผวนขึ้นลงแต่ค่อยเป็นค่อยไปจะดีที่สุด” นางสาวกัณญภัคกล่าว

อย่างไรก็ตามจากการเข้าพบผู้ว่าการ ธปท. มีข้อสรุปเป็นแนวทางร่วมกัน 5 ข้อ ได้แก่ 1.ทาง สรท.และ ธปท.จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง 2.จะมีความร่วมมือการอบรมให้ความรู้แก่เอสเอ็มอี เรื่องการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

3.สรท. และ ธปท.จะร่วมกันประชาสัมพันธ์และผลักดันโครงการ FX options ที่ ธปท.เปิดตัวไปเมื่อปลายปีก่อน ให้เอสเอ็มอีเข้ามาใช้งาน จากปัจจุบันมีเอสเอ็มอีได้รับคูปอง 2,000 ราย แต่มีการใช้วงเงินการซื้อป้องกันความเสี่ยงเพียง 200 รายเท่านั้น 4.สนับสนุนผู้ประกอบการเสริมความแข็งแกร่งให้ตนเองโดยใช้โอกาสนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าทุน และเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถการแข่งขัน

และข้อ 5.ธปท. สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อลดค่าใช้จ่าย และความผันผวนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้ได้กับสกุลเงินรูเปียห์ หยวน ริงกิต และคาดว่าจะขยายสู่เงินเยนในอนาคต โดยปัจจุบันมีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพียง 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ทุนสำรอง-ฟอร์เวิร์ดพุ่ง

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สำหรับการแข็งค่าของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2561 หลัก ๆ มาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ ซึ่งหากดูในแง่เงินทุนไหลเข้าในรูปการลงทุนในหลักทรัพย์ถือว่าเป็นส่วนน้อยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า

อย่างไรก็ตามภาพรวมเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่ความผันผวนอยู่ในระดับปานกลาง โดยบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินควร ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท. ก็ได้เข้าดูแลเพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศในปี 2560 ที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งการดูแลที่ผ่านมาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ไทยได้เปรียบการค้ากับต่างประเทศ หรือเพื่อฝืนทิศทางของตลาด แต่เพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากข้อมูลฐานเงินและเงินสำรองระหว่างประเทศของ ธปท.ในปี 2560 พบว่า ทุนสำรองอยู่ที่ 2.02 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.8% หากเทียบกับทุนสำรองปี 2559 ที่อยู่ 1.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ฐานะการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (ฟอร์เวิร์ด) ก็ก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 36,745 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.64% หากเทียบกับปี 2559 ที่มีฐานะการทำฟอร์เวิร์ดเพียง 25,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ธปท.มีการเข้าแทรกแซงเงินค่าเงินบาทต่อเนื่อง โดยการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเข้ามาต่อเนื่อง เพื่อชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาทในช่วงปี 2560 โดยเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 35.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปี 2560 ปิดตลาดที่ 32.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ณ วันที่ 5 ม.ค. พบว่าทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้า (29 ธ.ค. 60) ทุนสำรองอยู่ที่ 2.02 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ฐานะการซื้อฟอร์เวิร์ดอยู่ที่3.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ 3.67 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ระทึกค่าบาท Q1 จ่อ 31.50 บาท

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์แข็งค่าของเงินบาทในระยะนี้ มาจากการเข้ามาซื้อสินทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากกรณีที่มีข่าวว่าจีนจะลดการซื้อพันธบัตรสหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าเงินหยวนของจีน ปรับตัวแข็งค่าขึ้น จึงมีแรงเก็งกำไรล่วงหน้า หนุนให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าหลุดระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

คาดการณ์เงินบาทในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ คาดว่ายังคงมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องจากไตรมาสแรกเป็นช่วงไฮซีซั่นของฤดูการท่องเที่ยว ทำให้ประเทศมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง หนุนให้ค่าเงินยังคงมีทิศทางแข็งค่า หากดูสัญญาณการเคลื่อนไหวของเงินบาท อ้างอิงตราสารอนุพันธ์ที่เป็นตลาดล่วงหน้า มองว่ามีโอกาสหลุด 32.00 บาทต่อดอลลาร์ และมีโอกาสแตะระดับแนวรับที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 4 ปี นับตั้งแต่ พ.ย.ปี 2013 ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 32.35 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับการแข็งค่าของเงินในภูมิภาคเอเชียเทียบกับสกุลดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปี (3 ม.ค.-11 ม.ค. 61) พบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาคที่ 1.8% รองลงมาคือ รูเปียห์ ของอินโดนีเซีย และค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย ที่แข็งค่าอยู่ที่ 1.6%

“ขณะนี้เรายังไม่เห็นการเข้ามาแทรกแซงของ ธปท.ในตลาดเงิน ซึ่งก็คาดว่า ธปท.น่าจะปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาดบ้าง แต่ระยะต่อไป ก็มีโอกาสที่จะอ่อนค่าได้ หากมีความชัดเจนด้านนโยบายภาษีของสหรัฐ”

ต่างชาติเทหุ้น-ทะลักเข้าบอนด์

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย (TBMA) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (3 ม.ค.-11 ม.ค. 61) มีเงินต่างชาติเข้ามาซื้อขายบอนด์ไทยต่อเนื่อง และคึกคักมาก สวนกับตลาดหุ้นไทยที่เริ่มมีแรงเทขายออกมาให้เห็นต่อเนื่อง หลังตลาดทำระดับนิวไฮ ซึ่งหากดูสถิติการซื้อสะสมบอนด์ของต่างชาติ จนถึงวันที่ 12 ม.ค. พบว่ามีแรงซื้อสุทธิอยู่ที่ 65,676 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อของต่างชาติเข้ามาในบอนด์ไทยต่อเนื่อง วันละกว่าหมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาลงทุนในบอนด์ระยะสั้น

โดยยังเห็นสัญญาณการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในไทยต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบันอัตราผลตอบแทนของบอนด์ไทย (ยีลด์) อายุ 2 ปีของไทยจะต่ำกว่า ยีลด์บอนด์ของสหรัฐถึง 40 Basis Point แต่นักลงทุนต่างชาติก็ยังเข้ามาซื้อสินทรัพย์ในไทยต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่า ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ตามพื้นฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ

“ไม่รู้ว่าต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทหรือไม่ แต่เขามองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าได้ต่อ หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในตลาดเกิดใหม่ จึงเอาเงินเข้ามาพักไว้ที่ไทย เพราะเชื่อว่า ยังไงก็ได้ผลตอบแทนสูงกว่า” นายธาดากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ช่วงต้นปี 2561 มีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้นของภูมิภาคเอเชียค่อนข้างแรงจนทำให้ดัชนีตลาดหุ้นในหลายประเทศทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์รวมทั้งประเทศไทย โดยตั้งแต่ 1-11 ม.ค. 2561 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในภูมิภาค 2,762 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สำหรับประเทศไทยหลังจากที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิในวันที่ 2,694 ล้านบาท พบว่าหลังจากนั้นเป็นการขายสุทธิต่อเนื่อง 6 วันติดต่อกัน รวมมูลค่าขายสุทธิ 9,607.21 ล้านบาท

คลังชี้ช่วยทุกทางแล้ว

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทปี 2561 นี้ มีทิศทางแข็งค่าขึ้นแน่นอน เนื่องจากการส่งออกของไทยยังขยายได้ดี แต่จะแข็งค่าไปถึงขนาดไหนเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะคงคาดเดากระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ได้ยาก

โดยในวันที่ 29 ม.ค.นี้ สศค.จะแถลงปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2561 โดยจะปรับ คาดการณ์แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ด้วย จากเดิมที่ สศค.ประเมินค่าเงินบาทเฉลี่ยปีนี้ไว้ที่ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับมาตรการดูแลค่าเงินบาท คงต้องรอผลการหารือระหว่าง ธปท. กับผู้ส่งออก ส่วนมาตรการของกระทรวงการคลังถือว่าดำเนินการไปหมดแล้ว

“มาตรการของกระทรวงการคลัง คงไม่มี เพราะคลังทำทุกอย่างที่จะทำได้ไปแล้ว อย่างหนี้ต่างประเทศก็ใช้ไปเกือบหมดแล้ว ส่วนที่ยังเหลือก็ปิดความเสี่ยงหมด อย่างไรก็ดี หากเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ ก็จะมีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ก็จะช่วยลดแรงกดดันค่าบาทได้” นายศรพลกล่าว