หวั่นขยะแผงโซลาร์ล้นปท. เกลื่อนบ้านหม้อ-คลองถม-

แผงโซลาร์เซลล์เก่า-ใหม่เกลื่อนบ้านหม้อ-คลองถม ถูกกว่าท้องตลาดถึง 40% ไม่ถึงแสนก็ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ นักวิชาการหวั่น “ขยะแผงโซลาร์” ล้นประเทศ คาดในปี 2579 จะมีการใช้แผงในประเทศถึง 36 ล้านแผง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการลงสำรวจร้านค้าบริเวณตลาดบ้านหม้อ-คลองถม พบว่ามีการจำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์เป็นจำนวนมากจากการสอบถามผู้จำหน่ายหลายรายระบุตรงกันว่า ขณะนี้แผงโซลาร์เซลล์ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งแผงใหม่และแผงเก่ามือ 2 มีทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น และเยอรมนี โดยเฉพาะแผงโซลาร์เซลล์มือ 2 จากเยอรมนีได้รับความนิยมจากตลาดดีมาก จนถึงขี้น “ขาดตลาดหาซื้อไม่ได้”

โดยราคาแผงโซลาร์เซลล์เฉลี่ยขนาด 350 วัตต์ ตกประมาณ 6,000-7,500 บาท/แผง ขนาด 150 วัตต์ ราคา 3,500 บาท/แผง และขนาด 50 วัตต์ ราคา 2,400 บาท ส่วนใหญ่รับประกัน 1 ปี โดยไม่ครอบคลุมกรณีแผงแตก นอกจากนี้แต่ละร้านจำหน่ายยังมีบริการให้คำแนะนำ-วิธีคำนวณการใช้ไฟฟ้าให้กับลูกค้าอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ได้ยกตัวอย่างกรณีบ้านทั่วไปที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 1,000 วัตต์ (ห้องทำงานที่มีตู้เย็น-คอมพิวเตอร์-หลอดไฟ) จะต้องใช้เงินลงทุนอยู่ระหว่าง 75,000-80,000 บาท ประกอบไปด้วย ค่าแผง 24,000 บาท, ค่าอุปกรณ์โครงสร้างสำหรับติดตั้งแผงและค่าแรง 20,000 บาท, อินเวอร์เตอร์รวมแบตเตอรี่ประมาณ 30,000 บาท ซึ่งจะคืนทุนภายใน 3-4 ปี ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อลองคำนวณความคุ้มค่าต่อแผงที่ขนาด 350 วัตต์ พบว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ที่ 0.350 กิโลวัตต์ เมื่อนำมาคำนวณรวมกับชั่วโมงการผลิตไฟฟ้าที่ได้ใน 1 ปี และอัตราค่าไฟฟ้าที่ขายในปัจจุบันที่ 3.80 บาท/หน่วยแล้ว เท่ากับว่าจะคืนทุนได้ภายใน 4.3 ปี

“แผงโซลาร์เซลล์ของใหม่จากจีนจะขายดีมาก เพราะมีหลายเกรดตั้งแต่คุณภาพสูงไปจนถึงแบบธรรมดา นอกจากนี้กรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเสรีเร็ว ๆ นี้ ก็ยิ่งทำให้มีลูกค้าเข้ามาสอบถามและสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เป็นจำนวนมาก บางช่วงที่ร้านไม่มีช่างลงไปติดตั้งก็ต้องรอกันเป็นสัปดาห์ หรือบางครั้งรอครึ่งเดือนก็มี” ผู้จำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์รายหนึ่งกล่าว

แห่นำเข้าแผงทะลุ 6,000 ล้าน

นายพลกฤต กล่ำเครือ ชมรมช่างและผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาชมรมคาดการณ์มีการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ทั้งระบบสูงถึง 300 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 40% ที่มีการนำเข้าเพียง 100 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท หรือเท่ากับนำเข้าอย่าง “ก้าวกระโดด” เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อลดการใช้ไฟจากระบบและช่วยลดภาวะโลกร้อน

แต่ที่เริ่มขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญก็คือ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในภาคครัวเรือนและภาคเกษตร โดยเฉพาะภาคเกษตรที่จะต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำ รวมถึงเครื่องมือทางการเกษตรประเภทอื่น ๆ และคาดว่าในปี 2561นี้ ความต้องการใช้แผงโซลาร์เซลล์ในภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีตัวอย่างของผลการประหยัดออกมาเป็นตัวเงินที่ชัดเจน ประกอบกับเทคโนโลยีของแผงโซลาร์เซลล์ที่ดีขึ้นส่งผลให้ต้นทุนลดลง จากเดิมที่มีต้นทุนอยู่ที่ 35-40 บาท/วัตต์ มาอยู่ที่ 15 บาท/วัตต์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้ไฟฟ้ามีความสนใจที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แนะนำให้เลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ใหม่เพราะแผงโซลาร์เซลล์เก่าหรือแผงมือสองจะมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าลดลง และอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

“องค์ประกอบหลักของแผงโซลาร์เซลล์ก็คือ แร่ซิลิกอน ผมอยากให้นึกภาพเรากำลังเอาไฟไปเผาที่หิน ซึ่งหินไม่ติดไฟ ข้อกังวลอีกประการหนึ่งก็คือ ปัจจุบันไม่มีการกำหนดมาตรฐานของแผงโซลาร์เซลล์ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงอยากขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลในประเด็นนี้ เพราะเชื่อมั่นว่าในปีนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีหรือไม่มีนโยบายเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป คนก็ยังตัดสินใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นแน่นอน” นายพลกฤตกล่าว

ส่วนสาเหตุที่มีการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากต่างในประเทศเป็นจำนวนมาก เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตในประเทศมีราคา “แพงกว่า” แผงนำเข้าเฉลี่ยถึง 40% โดยสิ่งที่ชมรมช่างและผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์อยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลจะมีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1) ปัจจุบันผู้ที่ต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์เองเรียนรู้การติดตั้งจากคลิปในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งหากไม่มีความเชี่ยวชาญอาจจะไม่ปลอดภัย ฉะนั้นภาครัฐควรมีการให้ข้อมูลเพื่อความปลอดภัย กับ 2) ขอให้ภาครัฐเข้ามากำหนดมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์นำเข้า เพราะปัจจุบันมีมาตรฐาน มอก.เฉพาะแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตขึ้นในประเทศเท่านั้น

อนาคตขยะโซลาร์ล้น ปท.

ดร.พิชญะ รัชฎวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในขณะที่กระทรวงพลังงานส่งเสริมให้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แต่กระทรวงกลับ “ไม่มี” มาตรการจัดการแผงโซลาร์เซลล์หลังจากหมดอายุการใช้งาน ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579หรือแผน AEDP (Alternative Energy Development Plan) จะมีกำลังผลิตจากโซลาร์เซลล์ทั้งระบบรวมกันถึง 6,000 เมกะวัตต์ (MW)

โดยขณะนี้ได้เริ่มมี “ขยะแผงโซลาร์”ส่งเข้ามาในระบบบ่อฝังกลบของภาคเอกชนบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นแผงที่เกิดจากการชำรุดประมาณ 500-1,000 ตัน/ปี และคาดการณ์ว่าในปี 2579 ขยะโซลาร์เซลล์จะสูงถึง 7.5 แสนตัน หรือรวมทั้งสิ้นกว่า 36 ล้านแผง ดังนั้น สิ่งแรกที่ภาครัฐควรดำเนินการก็คือ 1) ให้มีกฎหมายออกมากำกับรวมไปจนถึงหาเจ้าภาพเข้ามาดูแลขยะแผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้ 2) รัฐบาลควรมีการส่งเสริมให้มีการลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ เนื่องจากในแต่ละแผงจะมีองค์ประกอบจากแร่ เช่น อินเดียม ที่สามารถนำไปใช้ผลิตจอ LED และยังมีกระจกอะลูมิเนียม-ทองแดงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

“ประเทศไทยควรมีกฎหมายที่บังคับใช้แบบชัดเจน ตั้งแต่ขั้นตอนการนำมารวมกัน การคัดแยก และรีไซเคิล วิธีนี้จะช่วยป้องกันการสลายของตะกั่วและแคดเมียมจากตัวแผงออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ด้วย หัวใจสำคัญของการจัดการก็คือ การนำแผงมารวมกันและคัดแยกแร่สำคัญออกมา แน่นอนว่าในช่วงเริ่มต้น ต้นทุนยังค่อนข้างสูง ภาครัฐก็ต้องกำหนดมาตรการจูงใจให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ เช่น การส่งเสริมการลงทุน ตอนนี้เราช้าไม่ได้แล้ว เพราะขณะนี้เริ่มเห็นขยะโซลาร์เซลล์จากต่างประเทศทะลักเข้ามาภายในประเทศของเราแล้ว” ดร.พิชญะกล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2559 ทั่วโลกมีของเสียจากแผงโซลาร์เซลล์อยู่ระหว่าง 43,500-250,000 ตัน จากประเทศ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน, เยอรมนี และญี่ปุ่น ในขณะที่ประเทศไทยมีการทยอยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มาตั้งแต่ปี 2545 โดยจังหวัดที่มีการติดตั้งแผงสะสมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ จังหวัดสระแก้ว ลพบุรี และเพชรบุรี