แห่สมัคร 7 กสทช.ชุดใหม่ เก้าอี้แห่งความอู้ฟู่และเผือกร้อน-

เปิดฉากแล้วสำหรับกระบวนการสรรหา “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติชุดใหม่ ทดแทนชุดปัจจุบันที่หมดวาระไปตั้งแต่ 6 ต.ค. 2560 โดย 8 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นใบสมัครได้จนถึง 14 ม.ค. 2561

เป็นการสรรหายกชุดทั้งหมด 7 คน ในความเชี่ยวชาญ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ ด้านกิจการโทรคมนาคม วิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ซึ่งผู้สนใจจะยื่นใบสมัครเข้าคัดเลือกได้เพียงด้านเดียว สำหรับขั้นตอนหลังจากปิดรับสมัครจะใช้เวลาอีกราว 3-4 เดือนในกระบวนการสรรหา

อดีตข้าราชการ-ทหารแห่สมัคร

สำหรับ 5 วันแรกคึกคักสุด มีผู้เข้าสมัคร 42 คน โดยกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มีผู้ยื่นใบสมัครมากที่สุด บรรดาทหาร-ตำรวจ ตบเท้ากันยื่นใบสมัครพรึ่บพรั่บ อาทิ พล.อ.อ.เอกรัฐ ษรานุรักษ์ อดีตเจ้ากรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ พล.อ.ศักดา แสงสนิท ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย พล.ต.วิเศษศักดิ์ สุนทรเกศ ผอ.ฝ่ายนโยบายและแผน ททบ.5 พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (ด้านกระบวนการยุติธรรม)

รวมถึงผู้มีชื่อเสียงในแวดวงราชการและธุรกิจ อาทิ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน นายสุระ เกนทะนะศิล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท โทรคมนาคม นายประพันธ์ คูณมี นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการ สตง. นาย ณ กาฬ เลาหะวิไลย รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจ บมจ.บางกอกโพสต์

แม้แต่รองเลขาธิการ กสทช. อย่าง พล.ต.อ.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร ขณะที่ฝั่งผู้บริโภค มีนายวุฒิพร เดี่ยวพานิช นายกสมาคมสิทธิผู้บริโภค รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ภารกิจเพื่อชาติอู้ฟู่ 3 แสนล้าน

บทบาทหน้าที่ของ “กสทช.” คืออะไร ทำไมถึงมีคนต้องการเข้ามานั่งตำแหน่งนี้ คงหนีไม่พ้นการได้เป็นผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมระดับหลายแสนล้านของประเทศ ทั้งเมื่อย้อนการทำงาน 6 ปีของบอร์ดชุดปัจจุบัน ผลงานเด่นคือการเปิดประมูลคลื่น 3G และ 4G ทั้งย่าน 2100 MHz ย่าน 900 MHz และย่าน 1800 MHz รวมเป็นเงินทั้งหมด 274,355 ล้านบาทนี่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 19,204 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังการประมูลช่องทีวีดิจิทัลอีก 50,862 ล้านบาท แต่ยังต้องลุ้นกันว่าผู้ประกอบการจะจ่ายเงินเข้ารัฐได้ครบหรือไม่ รวมถึงการประมูล “เบอร์สวย” 4 ครั้ง ได้เงินเข้าคลังอีก 253.65 ล้านบาท

เท่ากับ กสทช.ชุดปัจจุบันทำรายได้เข้าคลังแล้วเฉียด 3 แสนล้านบาท

ขณะที่ “รายได้” ที่เข้าสำนักงาน กสทช.เอง ซึ่งมาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและอื่น ๆ เมื่อปี 2558 อยู่ที่ 11,470 ล้านบาท ปี 2559 อยู่ที่ 11,592 ล้านบาท ซึ่งมีกระบวนการจัดทำงบประมาณรายปีเองโดยอิสระ ไม่ต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติไฟเขียวเพียงส่งให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาให้ความเห็น

ทั้งยังมีเงินจาก “กทปส.” หรือกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งผู้รับใบอนุญาตต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามสัดส่วนรายได้ ณ สิ้นปี 2560 มียอดคงเหลือราว 38,000 ล้านบาท

เผือกร้อนบอร์ดใหม่

งานสำคัญของบอร์ดชุดใหม่ เลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ย้ำตั้งแต่ปลายปีที่แล้วคือ การจัดประมูลคลื่นความถี่ภายใต้สัมปทาน “ดีแทค” ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2561 ซึ่งบอร์ดชุดปัจจุบันได้เปิดประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์การประมูลไปแล้วครั้งหนึ่ง และมีเสียงท้วงติงจากฝั่ง “ดีแทค” รวมถึง “NERA” บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกระบุว่า เงื่อนไขที่กำหนดทำให้เกิดความเสี่ยงในการประมูลสูงมาก ทั้งในแง่จำนวนผู้เข้าประมูลและเม็ดเงินในการลงทุน

ส่วนคลื่นอื่น ๆ ที่จะนำออกมาประมูลได้ในเร็ว ๆ นี้ คือคลื่น 2600 MHz ในมือ บมจ.อสมท “ฐากร” ระบุว่า คงต้องใช้เวลาเพราะต้องเจรจาการเยียวยาเรียกคืนคลื่นความถี่ รวมถึงย่านคลื่น 700 MHz ที่ต้องเปลี่ยนมาใช้ในกิจการโทรคมนาคมตามที่ ITU หลังสัมปทานทีวีแอนะล็อกสิ้นสุดปี 2563

ด้าน “พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร” ประธาน กสทช. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความท้าทายของบอร์ดชุดใหม่ อยู่ที่สะสางปัญหา อย่างการพยุงช่องทีวีดิจิทัล การกำกับดูแลสื่อใหม่อย่างการบรอดแคสต์ผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) การเรียกคืนคลื่นความถี่ อย่างคลื่น 50-54 MHz ที่ ITU กำหนดให้เป็นคลื่นวิทยุสมัครเล่นของทั่วโลก ในไทยผู้ถือครองเดิมคือเหล่าทัพ ซึ่งทหารทั่วโลกย้ายไปใช้คลื่น S Band ความถี่ด้านความมั่นคงแล้ว หากไทยจะทำต้องมีการอุดหนุนงบประมาณให้กองทัพเปลี่ยนอุปกรณ์ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ก็จะทำให้ระบบการสื่อสารของกองทัพเข้าสู่ระบบสากล ก็เป็นอีกวาระที่ กสทช.ชุดใหม่ รัฐบาล และกองทัพจะต้องคิดเรื่องนี้

“ข้อดีคือ กสทช.ชุดใหม่ไม่ต้องมาเริ่มต้น จัดการประมูลคลื่นต่าง ๆ ช่องทีวีดิจิทัล พวกนี้ทำไปหมดแล้ว เหลือแค่วิทยุชุมชน วิทยุดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ว่าจะไปอย่างไรต่อ แล้วถ้ากำหนดแนวทางไม่ดี จะเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่รออยู่ แต่ก็มีบทเรียนจากทีวีดิจิทัลให้ภาคเอกชนได้เห็นแล้วว่าต้องประเมินตลาดให้ดี ซึ่งงานบอร์ดใหม่มีแต่เรื่องร้อน แต่ก็เป็นความท้าทาย”