ส.ตราสารหนี้รับสภาพคุมบี/อี บีบตั้งผู้แทนล้อมคอกผู้ออกตั๋วเบี้ยวจ่าย-

สมาคมตราสารหนี้ จับมือ ก.ล.ต.แก้เกณฑ์ใหม่บังคับผู้ออกตั๋วบี/อี-หุ้นกู้ สกัดปัญหาผู้ออกเบี้ยวหนี้ ตีกรอบผู้ออกตั๋วบี/อีต้องตั้งตัวแทนรับประกันความเสี่ยง ดึงนักกฎหมายภายนอกรับรองออกหุ้นกู้ พร้อมตีกรอบกรณีบริษัทเกิดปัญหากำหนดให้จ่ายหนี้คืนทันที ไม่ต้องรอฟ้องร้องเสร็จสิ้น ชี้กระทบยอดออกบี/อีปีนี้วูบ คาดนักลงทุนวิ่งซบหุ้นกู้ “สั้น-ยาว” แทน

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ขณะนี้สมาคม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ในการออกและเสนอขายตราสารหนี้ เพื่อป้องกันปัญหาผิดนัดชำระหนี้ (ดีฟอลต์) ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ได้กลางปี 2561 นี้

สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลง คือ จะมีการยกเลิกการเสนอขายตั๋วแลกเงิน (B/E) แก่นักลงทุนทั่วไป (Public Offering-PO) และเปลี่ยนมาเป็นจำกัดการเสนอขายตั๋วบี/อี เฉพาะประเภทกลุ่มนักลงทุน เช่น เสนอขายให้กลุ่มนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวนไม่เกิน 10 คน และนักลงทุนรายใหญ่ (HNW) ที่ต้องซื้อตั๋วบี/อีผ่านตัวกลางเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ขายตั๋วบี/อีต้องแต่งตั้งผู้แทนการออกและผู้รับประกันการจำหน่าย (อันเดอร์ไรเตอร์) เพื่อรับประกันความเสียหายกรณีเกิดดีฟอลต์

“เมื่อก่อนเวลาออกตั๋วบี/อี ผู้ออกสามารถขอและออกได้ใน 1 วัน ต่างกับหุ้นกู้ที่ต้องใช้เวลาถึง 15 วัน แต่เกณฑ์ใหม่จะต้องแต่งตั้งตัวแทนผู้ออกตั๋วบี/อีทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาสังเกตได้ว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนีตั๋วบี/อีของบริษัทต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 ส่วนใหญ่ไม่มีผู้แทนผู้ออกตั๋วบี/อีทั้งนั้น ซึ่งอนาคตผู้ออกตั๋วบี/อี จะมีต้นทุนจากการจ้างผู้แทนเพิ่มขึ้นขั้นต่ำ 0.10% ของมูลค่าการออกตั๋วทั้งหมด หรือแล้วแต่ความเสี่ยงของเครดิตเรตติ้ง หากเรตติ้งไม่ดี ค่าจ้างผู้แทนก็อาจสูงขึ้นตาม”

นอกจากนี้ยังมีการปรับหลักเกณฑ์ของการออกหุ้นกู้ด้วย เช่น กำหนดหน้าที่ขั้นต่ำของผู้ออกหุ้นกู้ จะต้องให้นักกฎหมายภายนอก เข้ามารับรองเกี่ยวกับความสามารถทางกฎหมายในการออกหุ้นกู้และปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ, กำหนดว่าผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้เพื่อการอื่น ๆ ได้ นอกจากที่ระบุวัตถุประสงค์ไว้ในหนังสือชี้ชวน, กำหนดห้ามก่อภาระหลักประกันหรือภาระผูกพันในทรัพย์สินหรือกิจการภายหลังการออกหุ้นกู้ เป็นต้น

ส่วนกรณีการผิดนัดชำระคืนหนี้หุ้นกู้ของบริษัทผู้ออกนั้น ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ กำหนดให้หนี้ตามหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดจะต้องชำระทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์การผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งต่างจากหลักเกณฑ์ปัจจุบันที่กำหนดว่า จะได้รับเงินต้น ต่อเมื่อหุ้นกู้ดังกล่าวครบกำหนดการชำระคืน หรือได้มีการเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องทางกฎหมายเสร็จสิ้น

นายธาดากล่าวว่า ผลกระทบจากเกณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น อาจจะทำให้จำนวนผู้ออกตั๋วบี/อีลดลง และมูลค่าการออกตั๋วบี/อีก็มีโอกาสจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับมูลค่าการออกตั๋วบี/อีในปี 2560 ที่มียอดอยู่ที่ 4.69 แสนล้านบาท และทำให้ผู้ออกบี/อี เปลี่ยนมาออกหุ้นกู้ระยะสั้นและระยะยาวแทน

“ในปีนี้จึงคาดว่าจำนวนการออกตราสารหนี้รวม น่าจะอยู่ที่ 6.9-7.2 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่มียอดรวม 8 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้แบ่งเป็นคาดการณ์การออกหุ้นกู้อยู่ที่ 4.2 แสนล้านบาท และการออกหุ้นกู้ตามเกณฑ์ Basel 3 ของสถาบันการเงิน เพื่อเติมเงินกองทุนที่ราว 3 หมื่นล้านบาท”

ส่วนทิศทางดำเนินงานของสมาคมตราสารหนี้ในยุคที่ประเทศไทยก้าวสู่ 4.0 นายธาดากล่าวว่า จะมีการพัฒนาไปสู่การซื้อขายหุ้นกู้และการออกตราสารต่าง ๆ ที่เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ไม่ต้องถือครองใบหุ้นกู้เช่นในปัจจุบัน ซึ่งการพัฒนาจึงจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงบล็อกเชน มาช่วยในการลิงก์ข้อมูลรวมเข้าไปอยู่ในข้อมูลกลาง เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บรักษาและการซื้อขายในอนาคต โดยคาดว่าการซื้อขายแบบไม่มีใบถือครองใบหุ้นกู้ (สคริปเลส) จะเริ่มออกได้ราวสิ้นปี 2561 นี้