บิตคอยน์ ลามนักลงทุนไทย รัฐตั้งทีมไขปม “ลงทุนร้อน”-

A Bitcoin (virtual currency) coin is seen in an illustration picture taken at La Maison du Bitcoin in Paris, France, June 23, 2017. REUTERS/Benoit Tessier/Illustration

เป็นข่าวที่สร้างกระแสความตื่นเต้นในแวดวงการลงทุนอย่างมาก หลังจากที่มีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ชักชวนนักลงทุนไปซื้อขาย “บิตคอยน์ฟิวเจอร์ส” ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในต่างประเทศ จนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องออกโรงชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนชนิดนี้ว่าสามารถทำได้ เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรกำกับดูแลที่ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เกิดขึ้นได้ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงการลงทุน คริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency) หรือเงินดิจิทัล อย่างเช่น “บิตคอยน์” ฯลฯ ด้วยว่า ประเทศไทยจะตัดสินใจอย่างไรดีกับสกุลเงินที่เป็นคลื่นลูกใหม่นี้

ความเคลื่อนไหวที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทางการไทยกำลังกระตือรือร้นที่จะศึกษาประเด็นนี้ สะท้อนจากการที่กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งข้อมูลรายงานไปยังปลัดกระทรวงการคลัง ในเรื่อง “การดำเนินการเชิงนโยบายเพื่อควบคุมการใช้สกุลเงินดิจิทัลของสาธารณรัฐเกาหลี” ซึ่งเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทย เพื่อให้ใช้เป็นกรณีศึกษา

ทั้งนี้เพราะการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลในเกาหลีใต้เป็นธุรกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จนส่งผลให้กลายเป็นตลาดซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีปริมาณการซื้อขายสกุลเงินบิตคอยน์ มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา และเป็นตลาดที่ซื้อขายสกุลเงิน Ethereum (ETH) ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีการประเมินว่า การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลของเกาหลีใต้ ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 60 ล้านล้านวอน (ราว 5.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และประชากรเกาหลีใต้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเคยทำธุรกรรมจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวระบุว่า “รัฐบาลเกาหลีใต้” โดยคณะกรรมาธิการบริการทางการเงิน (Financial Service Commission) ได้ประกาศ “ไม่รับรอง” สกุลเงินดิจิทัลให้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน บริการทางการเงิน และเงินตราของเกาหลีใต้ รวมถึงเคยพิจารณามาตรการห้ามซื้อขายหรือทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล แต่กระทรวงยุทธศาสตร์และการคลัง (Ministry of Strategy and Finance) เห็นว่า การสั่งห้ามดังกล่าวอาจขัดขวางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ และกระทบต่อนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและการกระตุ้นการสร้างงาน

จึงได้มีการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนมีมติให้ใช้มาตรการควบคุมเบื้องต้นออกมา ยกตัวอย่าง เช่น มาตรการการจัดเก็บภาษีการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล การห้ามไม่ให้ผู้เยาว์และชาวต่างชาติเปิดบัญชีซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล และการเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบประวัติบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ

ผลจากการตื่นตัวกระแสการลงทุนเงินดิจิทัลนี้ “พรชัย ฐีระเวช” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง จึงออกมาแสดงท่าทีโดยระบุว่า ภายในสัปดาห์นี้ (15-19 ม.ค.) จะประชุมคณะทำงานเพื่อศึกษาและเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ตั้งขึ้น ซึ่งจะมี 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ก.ล.ต. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

ส่วนฟาก ก.ล.ต.แม้จะอยู่ระหว่างออกกฎเกณฑ์ เพื่อมากำกับการระดมทุนผ่าน Initial Coin Offerings (ICO) ซึ่งมีการใช้เงินดิจิทัลในกระบวนการลงทุนนั้นก็ยืนยันว่า ยัง “ไม่ได้รับรองสถานะของบิตคอยน์ และบิตคอยน์ก็ยังคงไม่ใช่เงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด”

โดย “อาจารีย์ ศุภพิโรจน์” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน ก.ล.ต. ระบุว่า การประชุมกันระหว่าง 4 หน่วยงานที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ น่าจะมีการตกลงกันในเรื่องการสร้างความเข้าใจเรื่องบิตคอยน์ ส่วนเรื่องที่ว่าประเทศไทยจะตัดสินใจอย่างไรกับบิตคอยน์ คงต้องหารือกันต่อไป

“แนวทางในต่างประเทศในเรื่องบิตคอยน์ที่ได้ศึกษาก็มีหลายรูปแบบ เช่น 1.แบน (ไม่เอา) บิตคอยน์ 2.เข้าไปกำกับ 3.รอดูทิศทางก่อน ซึ่งก็คงต้องให้ที่ประชุมคุยกันก่อน” อาจารีย์กล่าว

ขณะที่ “ศรพล ตุลยะเสถียร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การรับมือการลงทุนบิตคอยน์ในปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการควบคุมเกี่ยวกับการหลอกลวงอยู่ โดยคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีสั่งการมายังกระทรวงการคลัง คือให้มีการเตือนประชาชนว่า การลงทุนมีความเสี่ยง อย่างไรก็ดี คงต้องให้คณะทำงานหารือร่วมกันก่อนว่า จะมีแนวทางต่าง ๆ ออกมาอย่างไรต่อไป

คงต้องรอติดตามต่อไปว่า 4 หน่วยงานรัฐ จะตัดสินชะตาการลงทุนเงินดิจิทัล ที่กำลังเป็นกระแสร้อนของทั่วโลกอย่างไร