เร่งเพิ่มมูลค่าแมคาเดเมียเสริมรายได้-

แปรรูป - จังหวัดเลย เป็นแหล่งปลูกแมคาเดเมียอันดับต้น ๆ ของไทย โดยเฉพาะอำเภอภูเรือ และนาแห้ว ปัจจุบันเกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น อบเกลือ อบธรรมชาติ เนย และน้ำมัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

เมืองเลยแหล่งแมคาเดเมียอันดับ 1 ของประเทศ เผยราคาดี ยังไม่แปรรูป 80-100 บาท/กก. สร้างรายได้ให้จังหวัดปีละ 25 ล้านบาท ชี้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อตลาดทั้งใน-ต่างประเทศเร่งผนึกสถาบันการศึกษาหนุนการแปรรูป พร้อมร่วมหน่วยงานต่าง ๆ สร้างมาตรฐาน

นางเกศษิณ ลำมะยศ เกษตรจังหวัดเลย กล่าวว่า ปี 2560 จ.เลย มีพื้นที่ปลูกแมคาเดเมีย 1,728 ไร่ เป็นพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวได้ 759 ไร่ มีเกษตรกร 668 ครัวเรือน โดยพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากปี 2558 และ 2559 ที่มีอยู่ 1,220 และ 1,210 ไร่ ตามลำดับ ส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอภูเรือ นาแห้ว และด่านซ้าย ซึ่งพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะให้ผลผลิตได้เพียง 530 กว่ากิโลกรัม

แต่เนื่องจากแมคาเดเมียต้องปลูกในพื้นที่สูงเท่านั้น จึงทำให้เกษตรกรประสบปัญหาพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ อย่างไรก็ตามได้โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ เข้ามาช่วย จึงทำให้สามารถปลูกได้ โดยมีทั้งที่ทำเป็นนาขั้นบันได และโซนนิ่ง ซึ่งปัจจุบันราคาที่เกษตรกรขายแมคาเดเมียที่มีกะลา (เปลือก) ให้กลุ่มแปรรูป อยู่ที่ 80-100 บาท/กก. สร้างรายได้ให้จังหวัดกว่า 25.57 ล้านบาท

กัลณัฏฐ์ พระศรีนาม

นอกจากนี้ใน อ.นาแห้ว และภูเรือ เกษตรกรยังมีการรวมกลุ่มกันแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จำหน่ายทั้งในร้านขายของฝาก โมเดิร์นเทรด สนามบิน และมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อส่งไปต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม เกาหลี เป็นต้น โดยหลังจากแปรรูปแล้ว สร้างมูลค่าให้จังหวัดเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ซึ่งอนาคตจะผลักดันให้ให้เกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจมากขึ้น โดยจะเข้าไปสนับสนุนในเรื่องแปรรูป และการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ด้านนางกัลณัฎฐ์ พระศรีนาม ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร บ้านบ่อเหมืองน้อย ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย กลุ่มผู้ปลูก รวบรวม แปรรูป และจำหน่ายแมคาเดเมีย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2545 เริ่มรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแมคาเดเมีย และจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนประมาณปี 2546 ต่อมามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการแปรรูปผลผลิต ซึ่งนำทุกส่วนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 15-20 คน และมีเครือข่ายในกลุ่ม ทั้งเกษตรกรและผู้แทนจำหน่าย รวมทั้งหมด 150 คน ซึ่งวิสาหกิจชุมชนฯ บ้านบ่อเหมืองน้อย จะรับประกันราคาให้เกษตรกรที่นำผลผลิตมาส่งให้จากทั่วประเทศ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ในราคา 80-90 บาท/กิโลกรัม (กก.) ปัจจุบันรับซื้อปีละกว่า 50 ตัน รวมถึงผลผลิตชนิดอื่น เช่น สตรอว์เบอรี่ อโวคาโด เป็นต้น และมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะเขือเทศศรีนครินทร์ โดยประกันราคากิโลกรัมละ 40 บาท และส่งจำหน่ายในจังหวัดและท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต

ซึ่งจังหวัดเลยปลูกแมคาเดเมียมากที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะอำเภอภูเรือ ซึ่งจะปลูกและให้ผลผลิตได้เฉพาะในพื้นที่สูงเท่านั้น โดยพื้นที่ปลูกที่มีความสูง 700-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ผลผลิตจะออกเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ขณะที่ระดับความสูงเกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะมีผลผลิตออกตลอดทั้งปี ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น 508 741 341 เป็นต้น

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กว่า 20 ชนิด เช่น อบเกลือ อบธรรมชาติ อบทั้งเปลือก เคลือบช็อกโกแลต แปรรูปเป็นเนย น้ำมัน เป็นต้น จำหน่ายกิโลกรัมละ 300-1,200 บาท เจาะกลุ่มตลาดร้านขายของฝากในจังหวัดเลยและกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงการออกบูทจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า งานอีเวนต์ ขณะที่ตลาดต่างประเทศนั้น มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อและส่งออกไปเวียดนาม จีน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกและการแปรรูป รวมถึงตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกให้มากขึ้น อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3,000 ต้น/ปี

“ทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือให้การสนับสนุน การที่เราทำผลิตภัณฑ์ตัวนี้เข้ามา ทุกกระทรวงมีความสำคัญต่ออาชีพของเกษตรกรเรา พาณิชย์ก็ดูแลเรื่องของตลาดอุตสาหกรรม ดูแลเรื่องมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ พัฒนาชุมชน ดูแลเรื่องของการตลาดและการรวมกลุ่ม การจัดการบริหารของคน สาธารณสุขเรื่องของ อย. และ GMP มันเชื่อมโยงกันหมด ขณะเดียวกันคนปลูก คนแปรรูป คนขาย ต้องกอดคอกัน อยู่ร่วมกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน” นางกัลณัฎฐ์กล่าว