เปิดลายแทง “ที่จอดรถ” รองรับรถไฟฟ้า 10 สายในอนาคต-

ปัจจุบัน “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” กำลังเร่งศึกษาจัดทำระบบจอดแล้วจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัดในปัจจุบันให้บรรเทาเบาบางลง

โดยยกร่างเป็นแผนแม่บท ให้เชื่อมโยงของระบบขนส่งมวลชน หลังพบว่ามีปัญหาช่วงรอยต่อของระบบขนส่งสาธารณะที่จัดเตรียมพื้นที่จอดรถไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จึงเร่งจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดทำที่จอดรถให้บริการในพื้นที่ที่การจราจรติดขัดและแนวรถไฟฟ้า หวังสร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้บริการมากขึ้น

ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีจุดจอดแล้วจรให้บริการ ได้แก่ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 3 แห่ง รถไฟฟ้าใต้ดิน 12 แห่ง แอร์พอร์ตลิงก์ 6 แห่ง สายสีม่วงบางใหญ่-เตาปูน 4 แห่ง และสายใหม่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เพื่อดึงคนเข้ามาในพื้นที่ชั้นในลดการใช้รถส่วนตัว ลดความแออัดที่จอดรถสำนักงาน

ผลศึกษาจะระบุอุปสงค์การใช้จุดจอดแล้วจร โดยใช้ข้อมูลคาดการณ์ปริมาณผู้ใช้รถไฟฟ้า กำหนดที่ตั้งขนาดความจุที่เหมาะสมในการพัฒนาจุดจอดแล้วจรให้สอดคล้องกับอุปสงค์การใช้ เสนอทางเลือกรูปแบบการบริหารจัดการ การลงทุนที่เหมาะสม หน่วยงานรับผิดชอบ มาตรการสนับสนุน ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ และรูปแบบการส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามาใช้จุดจอดแล้วจรมากขึ้น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้จากการคาดการณ์อุปสงค์การใช้งานจุดจอดแล้วจรในสถานีรถไฟฟ้า ที่ได้ทำการคัดเลือกในเบื้องต้น พบว่าภาพรวมทั้งกรุงเทพฯ จะมีความต้องการประมาณ 30,000 ช่องจรในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 43,880 ช่องจรในปี 2574

สำหรับรูปแบบมี 4 ประเภททางเลือก ได้แก่ 1.ลานจอดแล้วจรโดยเฉพาะ ตั้งอยู่บริเวณชานเมือง ราคาที่ดินต่ำกว่า 40,000 บาทต่อตร.ว. 2.อาคารจอดรถ ตั้งอยู่ใกล้เขตเมือง ราคาที่ดิน 40,000-60,000 บาทต่อ ตร.ว. 3.จุดจอดแล้วจรประเภทใช้งานร่วมกับการจอดรถเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ตั้งอยู่ใกล้เขตเมืองราคาที่ดินมากกว่า 60,000 บาทต่อ ตร.ว. อนุญาตให้ผู้ใช้บริการทำกิจกรรมอื่น

และ 4.จุดจอดแล้วจรประเภทร่วมกับโครงการพัฒนาที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่มีความหนาแน่นสูง ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองตามแนวถนนสายหลักที่มุ่งหน้าพื้นที่เขตเมือง เช่น บริเวณเป็นคอขวด และราคาที่ดินมากกว่า 45,000 บาทต่อ ตร.ว.