ปลุกเมืองใหม่รับไฮสปีดเทรน ดึงเอกชนลุยโครงการมิกซ์ยูส 17 สถานี-

พลันที่ “รัฐบาลทหาร” กดปุ่มถมคันดินก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช สายแรกของประเทศไทย ที่เชื่อมการเดินทาง 5 จังหวัดภาคอีสาน ด้วยระยะทาง 253 กม. ไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ทำให้โมเดลเมืองใหม่ถูกพูดถึงอีกครั้ง

หลัง “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เจ้ากระทรวงคมนาคม ออกมาตอกย้ำการพัฒนารถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนมาก อย่าดูแค่รายได้กำไรจากรถไฟ ต้องดูที่ประโยชน์ทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นตลอดแนวเส้นทาง ทั้งการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีและเมืองใหม่ จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งสำคัญสุดคือ connectivity ด้านกายภาพที่จะเกิดขึ้นในประเทศ

จะว่าไป “โมเดลเมืองใหม่ไฮสปีดเทรน” เคยมีการศึกษาร่วมกันระหว่าง “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” กับ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” เมื่อครั้งที่รัฐบาลเพื่อไทยดันโครงการ 2 ล้านล้านในปี 2556

ในขณะนั้นศึกษาครบถ้วน 4 เส้นทาง 4 ภาค มี 17 สถานี ทั้งพัฒนาสถานีเดิมและเปิดพื้นที่ใหม่ มีเมือง 3 ขนาด คือ S-M-L (ดูแผนที่) พื้นที่ตั้งแต่ 2,000-5,000 ไร่ ในรัศมี 5-10 กม.รอบสถานี

มีโมเดลญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางให้เกิดมูลค่าเพิ่ม นอกจากเพื่อการเดินรถแล้ว จะต้องวางกรอบการพัฒนาพื้นที่รอบ ๆ สถานีเพื่อสร้างรายได้

ทั้ง 17 สถานี จำแนกเป็นสายอีสาน “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สระบุรี 3,000 ไร่ ห่างจากสถานีเดิม 4 กม. อยู่ถนนวงแหวนรอบนอกตรงข้ามกับศูนย์การค้าโรบินสัน ติดกับอ่างเก็บน้ำคลองเพียว 2.ปากช่อง 3,000 ไร่ ห่างสถานีรถไฟเดิม 5 กม. เป็นที่ดินกรมธนารักษ์ และ 3.นครราชสีมาพัฒนาสถานีเดิม 7,000 ไร่

สายเหนือ “กรุงเทพฯ-พิษณุโลก” มี 5 แห่ง ได้แก่ 1.พระนครศรีอยุธยา 5,000 ไร่ อยู่สถานีเดิม ใกล้เมืองอยุธยาและใกล้แหล่งท่องเที่ยว 2.ลพบุรี 5,000 ไร่ อยู่สถานีรถไฟบ้านป่าหวาย ต.ป่าตาล อ.เมืองลพบุรี ห่างสถานีรถไฟลพบุรี 5 กม. 3.นครสวรรค์ 5,000 ไร่ อยู่สถานีรถไฟเดิม ต.หนองปลิง อ.เมือง ห่างศูนย์กลางเมือง 6 กม. 4.พิจิตร เปิดพื้นที่ใหม่ห่างจากสถานีเดิม 2 กม. จำนวน 5,000 ไร่ และ 5.พิษณุโลกอยู่สถานีเดิม 5,000 ไร่ การพัฒนาจะไม่กระทบต่อตลาดและชุมชนโดยรอบ

สายใต้ “กรุงเทพฯ-หัวหิน” มี 4 แห่ง ได้แก่ 1.นครปฐม 3,000-4,000 ไร่ อยู่สถานีเดิม 2.ราชบุรี 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่ใหม่ห่างจากสถานีเดิม 3 กม. 3.เพชรบุรี 3,000-4,000 ไร่ บนพื้นที่ใหม่ ห่างจากในเมือง 2 กม. และ 4.หัวหิน 5,000 ไร่ บนพื้นที่ใหม่ ตรงข้ามสนามบินหัวหิน บริเวณบ่อฝ้าย-ห้วยจิก ห่างจากหัวหิน 6 กม.และชะอำ 17 กม.

และสายตะวันออก “กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง” ปัจจุบันถูกแปลงร่างกลายเป็นไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มี 5 แห่ง

ได้แก่ 1.ฉะเชิงเทรา เปิดพื้นที่ใหม่ 2,500 ไร่ ตั้งอยู่ ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา 2.ชลบุรี อยู่สถานีเดิม 3,000-4,000 ไร่ 3.ศรีราชา มี 2 ทางเลือก คือ สถานีเดิม 400 ไร่ หรือห่างจากสถานีเดิมมาด้านใต้ 3-4 กม. ขนาด 7,000 ไร่ 4.เมืองพัทยา 5,000-6,000 ไร่ มี 3 ทางเลือก คือ สถานีเดิม 5,000 ไร่ หรือห่างจากสถานีเดิมขึ้นไปทางเหนือ 5 กม. และห่างจากสถานีเดิมมาด้านใต้ 8 กม. และ 5.ระยอง 4,000-5,000 ไร่ ห่างจากสถานีรถไฟมาบตาพุดขึ้นไปทางตัวเมืองระยอง 8 กม.

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า สำหรับการกำหนดที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำหนดในทีโออาร์ให้เอกชนที่สนใจร่วมลงทุน PPP กำหนดตำแหน่งสถานีได้เอง แต่จะต้องมีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เอง เหมือนกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่กลุ่มบีทีเอสยื่นข้อเสนอ

ด้าน “มณฑล สุดประเสริฐ” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การวางกรอบพัฒนาเมืองใหม่รองรับรถไฟความเร็วสูงยังคงเดินหน้าตามคอนเซ็ปต์เดิมที่กรมเคยศึกษาเบื้องต้นไว้ 17 สถานี การพัฒนามี 2 รูปแบบ คือ 1) จัดวางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะ ภายในจะกำหนดโซนนิ่ง อาทิ โซนที่อยู่อาศัย โซนสาธารณูปโภค เช่น ถนน สวนสาธารณะ โซนพาณิชยกรรม มีศูนย์การค้า ใช้เวลาประมาณ 1 ปี

2) การจัดรูปที่ดิน จะใช้เวลาดำเนินการนาน จะต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และจัดแบ่งเฟสที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ แนวทางนี้กรมจะร่วมกับหน่วยงานของรัฐตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมารองรับ หรืออาจจะให้รัฐและเอกชนร่วมกันลงทุนรูปแบบ PPP

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ขนาดของเมือง และวิธีดำเนินการ เช่น ถ้าใช้วิธีการจัดรูปที่ดิน จะแชร์ที่ดินจากเอกชนมาพัฒนาร่วมกัน การลงทุนจะถูกประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อแห่ง หากลงทุนทั้งค่าก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน จะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

ดูเหมือนทุกอย่างพร้อมรอ “รัฐบาล คสช.” หยิบมาสานต่อเท่านั้นเอง