“กรมโยธา” ยกเครื่องผังเมืองทั้งระบบ บูม “นครปฐม-ปากน้ำ-มหาชัย” ศก.ไร้รอยต่อ-

ผัง 8 จังหวัด - มหานครกรุงเทพฯที่โตวันโตคืน ความเจริญขยายออกสู่จังหวัดปริมณฑล ภาครัฐเตรียมบังคับใช้ผังเมืองเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจไร้รอยต่อ

กรมโยธาฯเร่งยกเครื่องผังเมือง กทม.และปริมณฑล นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครนายก นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ วางผังพัฒนาเมืองแบบไร้รอยต่อ รับมือเมืองโตกระจายความเจริญจากใจกลางธุรกิจสู่ตะเข็บชานเมือง สร้างเมืองใหม่ ลดความแออัด เผยโฉมกลางปีนี้

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างดำเนินการวางผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม ให้มีแนวทางการพัฒนาแบบไร้รอยต่อ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2561

โดยบูรณาการให้เขตรอยต่อระหว่างจังหวัดมีการกำหนดผังเมืองเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค รวมถึงข้อกำหนดที่สอดคล้องกันและเป็นแผนผังที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือให้หน่วยงานภาครัฐใช้เป็นแนวทางพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้เกิดประสิทธิภาพ และพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ด้วย

วางผังเสร็จกลางปีนี้

“กลางปีนี้จะเห็นภาพผังโครงสร้างการพัฒนาผังเมืองรวมกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมองถึงการเชื่อมโยงเหมือนเป็นพื้นที่เดียวกัน ปัจจุบันพื้นที่รอยต่อแยกไม่ออกแล้วว่าตรงไหนเป็นนนทบุรี ปทุมธานี เพราะความเจริญเชื่อมต่อกันหมด ทำให้เมืองโตต่อเนื่อง เรียกว่าอภิมหานคร ต่อไปผังเมืองแต่ละจังหวัดจะสอดคล้องเป็นผืนเดียวกัน”

ขณะที่ที่ดินกรุงเทพฯมีราคาแพง ส่งผลกระทบทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถอยู่ใน กทม.ได้ ต้องหาที่อยู่อาศัยไกลกว่าศูนย์กลางกรุงเทพฯออกไป จึงต้องปรับแก้ผังเมืองที่มีอยู่ให้สอดรับและเชื่อมโยง เพื่อกระจายความเจริญจากกรุงเทพฯไปยังพื้นที่โดยรอบ

ทั้งนี้กรมได้ส่งข้อมูลให้ผังเมืองกรุงเทพฯ รับทราบถึงแนวทางการวางผังเมืองให้ไร้รอยต่อเป็นลักษณะไหนให้เชื่อมโยงกับผังเมืองรวม 7 จังหวัด บริเวณที่เป็นชายขอบแต่ละจังหวัดต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่สีเดียวกัน จากปัจจุบันที่ขัดแย้งกัน และระหว่างทางจากกรุงเทพฯที่เป็นจุดศูนย์กลางไปยังจังหวัดโดยรอบ จะต้องมีเมืองที่เกิดขึ้นมารองรับ ทั้งเป็นชุมชนและเมืองบริวาร

ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพฯได้ประชุมร่วมกับจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดข้างเคียงเพื่อประสานและบูรณาการด้านการพัฒนาเมือง ทั้งด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบคมนาคมขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการและการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ จะนำข้อมูลไปประมวลผลในการปรับปรุงข้อกำหนด แผนผัง และมาตรการทางผังเมืองที่เกี่ยวข้อง ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯฉบับใหม่ ซึ่งกำลังดำเนินการปรับปรุงครั้งที่ 4 เพื่อให้เป็นผังเมืองที่ไร้รอยต่อ

นนท์นำโมเดล กทม.ต้นแบบ

“ผังเมืองรวมนนทบุรีใช้โมเดลการพัฒนารูปแบบเดียวกับ กทม. เช่น ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน นำ FAR และ OSR มาใช้ในการจัดวางผังเมืองรวมฉบับใหม่เพื่อจัดระเบียบของเมือง ส่วนจังหวัดอื่น ๆ อยู่ที่ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่” นายมณฑลกล่าวและว่า

ปัจจุบันสภาพผังเมืองของกรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากขาดการบูรณาการร่วมกัน ทำให้เกิดรอยต่อของการพัฒนาที่มีความขัดแย้งกัน เนื่องจากผังเมืองรวมกรุงเทพฯส่งเสริมการพัฒนาในบริเวณศูนย์กลางเมืองแและพื้นที่ต่อเนื่องให้เป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากกับย่านพาณิชยกรรม เพราะเน้นการพัฒนาเมืองในรูปแบบเมืองกระชับหรือ compact city ในกรอบถนนรัชดาภิเษก ถัดมาเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและศูนย์บริการชุมชน

บูมที่ดินตะเข็บชานเมือง

ส่วนพื้นที่รอบนอกชานเมืองรัศมีเกินจากถนนกาญจนาภิเษกออกไปมีการจำกัดการพัฒนาโดยการกำหนดเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียวลายขาว) และกำหนดให้เป็นพื้นที่เมืองเฉพาะในบริเวณศูนย์ชุมชนชานเมืองเท่านั้น เช่น มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และบางขุนเทียน โดยมีข้อกำหนดควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เข้มงวด เช่น มาตรการพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) พื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (OSR)

ขณะที่จังหวัดปริมณฑลเป็นพื้นที่รอยต่อไม่มีมาตรการดังกล่าวบังคับใช้ และหลายแห่งยังเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกฎกระทรวงผังเมืองรวมควบคุมการพัฒนาเมือง หรือแม้จะมีบังคับใช้แต่ก็มีความผ่อนปรนของระบบแผนผังและข้อกำหนดอยู่มาก

“เมื่อพิจารณาถึงภาพรอยต่อ พบว่ากำหนดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและระบบคมนาคมขนส่งกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล การส่งเสริมการพัฒนาเมืองขาดความต่อเนื่อง”

อย่างเช่น พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมที่เป็นพื้นที่ฟลัดเวย์ ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯขัดแย้งกับการกำหนดศูนย์ชุมชนเมืองในจังหวัดปทุมธานี และสนามบินสุวรรณภูมิในจังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่สีเขียวและสีเขียวลายในฝั่งธนบุรีขาดความต่อเนื่องการพัฒนาเมืองในจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม และนนทบุรี

รวมถึงระบบโครงข่ายถนนแต่ละแผนผังไม่มีระบบที่ต่อเนื่องกัน เช่น ถนนพุทธมณฑลสาย 1 สาย 2 สาย 3 ไม่ต่อเนื่องกับโครงการก่อสร้างถนนในจังหวัดนนทบุรีเป็นพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงจัดทำผังเมืองรวมสามารถวางผังได้อย่างไร้รอยต่อทั้งระบบ สอดคล้องในการส่งเสริมและควบคุมการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ขยะมูลฝอย และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ร่วมกัน