มณฑล สุดประเสริฐ มือวางผังเมืองสู่ไทยแลนด์ 4.0-

สัมภาษณ์พิเศษ

ปัจจุบัน “ผังเมือง” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันโครงการลงทุนของ “รัฐบาล คสช.” ไม่ว่าการแจ้งเกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ขณะนี้เดินหน้าจุดพลุเต็มสูบเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

ที่ผ่านมา “กรมโยธาธิการและผังเมือง” หน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับลูกรัฐบาลคลายกฎเหล็กให้เอื้อต่อการลงทุน เร่งปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัดให้ครบ 77 จังหวัด

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “มณฑล สุดประเสริฐ” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่นั่งเก้าอี้มาร่วม 6 ปี เพื่อผลักดันภารกิจสำคัญ

Q : การปรับเปลี่ยนผังเมืองในรัฐบาลนี้

ผังเมืองรวมจังหวัดประเทศไทยมี 77 จังหวัด (รวม กทม.) ได้เริ่มดำเนินการจัดทำตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ถึงปี 2557 รวม 10 ปี มีบังคับใช้ 19 จังหวัด รัฐบาลจึงมอบนโยบายให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดการดำเนินงานการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบันประกาศใช้แล้ว 73 จังหวัด ยกเว้น กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต มีผังเมืองรวมครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดแล้ว โดยมี 54 จังหวัดที่มีการประกาศบังคับใช้ในรัฐบาลนี้

แผนการดำเนินงานระยะต่อไปจะปรับปรุงกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดที่ใช้ในปัจจุบันให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป ให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน

มีผังเมืองรวมจังหวัดได้ปรับปรุง 45 จังหวัด เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนตามกฎหมาย 42 จังหวัด เริ่มดำเนินการปี 2560 จำนวน 13 จังหวัด มีแพร่ อ่างทอง หนองคาย อุตรดิตถ์ เชียงราย ชัยภูมิ ระนอง ตรัง ตาก พัทลุง ชุมพร แม่ฮ่องสอน และพังงา เริ่มดำเนินการในปีนี้ 13 จังหวัด มีพิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ และปี 2562 มี 2 จังหวัด คือ ชัยนาท และสกลนคร

มณฑล สุดประเสริฐ

Q : ผังเมืองรวมนนทบุรีที่กำลังมีปัญหาอยู่

จังหวัดนนทบุรีตอนนี้ยังไม่มีผังเมืองรวมจังหวัดบังคับใช้ แต่ท้องถิ่นก็ออกข้อบัญญัติควบคุมการก่อสร้างแต่ละพื้นที่ ซึ่งกรมได้ถ่ายโอนอำนาจให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ดำเนินการจัดทำผังเมืองรวมเอง ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) ผังเมืองเห็นชอบร่างผังเมืองไปแล้ว ล่าสุดอยู่ระหว่างปิดประกาศรับฟังความคิดเห็น 90 วัน ถึงวันที่ 16 ม.ค.นี้ จากนั้นพิจารณาคำร้อง จะพยายามให้บังคับใช้ภายในปี 2561 นี้

ทราบว่ามีคนค้านเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างคอนโดมิเนียมในซอยถนนกว้าง 5-7 เมตร ที่ให้สร้างได้ไม่เกิน 23 เมตร หรือสูงไม่เกิน 8 ชั้น เพราะตามกฎหมายจะต้องมีเรื่องของที่จอดรถกำหนด 120 ตร.ม./คัน หากที่จอดรถไม่พอจะต้องมาจอดบนถนน จะทำให้เกิดปัญหาการจราจรเพราะรถจะสวนกันไม่ได้ ที่สำคัญหากเกิดกรณีไฟไหม้จะทำให้รถดับเพลิงเข้าไปไม่ได้อีก

ยังไงเอกชนจะลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ขอให้ลงทุนในเรื่องของถนนเพื่อเป็นทางเข้าออกให้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ดินไม่ติดถนนคุณก็ต้องตัดถนนเข้าไป ไม่ใช่อยู่ ๆ ซื้อที่ในซอยแล้วทำปัญหาให้สังคม จะมาซื้อที่ราคาถูกในซอยเพื่อสร้างคอนโดฯขายในราคาแพง ๆ คงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องมากนัก

Q : อุตสาหกรรม New S-curve ลงทุนพื้นที่ EEC ไม่ได้ ติดผังเมือง

ต้องรอผังเมืองอีอีซีออกประกาศบังคับใช้ จะเป็นผังเมืองใหม่ใช้แทนผังเมืองรวมจังหวัด 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง กำหนดแนวทางการพัฒนา การใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนผังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้เป็นผืนเดียวกันครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งกรมกำลังดำเนินการให้เสร็จกลางปีนี้

ผังเมืองจะกำหนดพื้นที่โซนพัฒนา ที่อยู่อาศัย เชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมเก่าและใหม่ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และเขตส่งเสริมพิเศษ เช่น เขตนวัตกรรม EECi และ EECd ไว้ชัดเจน ให้สอดคล้องกับนโยบายเพราะเป็นการจัดทำผังโดยกระบวนการพิเศษ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นรูปธรรม สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ดังนั้นการใช้ประโยชน์ที่ดินจะมีความยืดหยุ่นให้เอื้อต่อการพัฒนา โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อคนในพื้นที่ด้วยทั้งในเชิงบวกและลบ

Q : การพัฒนาเมืองใหม่แนวไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

โดยหลักอีอีซี รัฐบาลคาดหวังว่าจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ สิ่งที่เกิดขึ้นเราคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยมากขึ้น สิ่งที่ต้องมอง คือ 1.ชุมชนเดิมต้องวางแผนรองรับ 2.ชุมชนที่จะเกิดขึ้นใหม่ เช่น บริเวณที่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงในรัศมีที่ใช้ระยะเดินทางไม่เกิน 30 นาทีจากสถานี มีฉะเชิงเทรา พัทยา ชลบุรี ศรีราชา ระยอง และอู่ตะเภา อู่ตะเภาต้องมีชุมชนรอบ ๆ มารองรับ ส่วนพื้นที่อนุรักษ์ก็ยังคงไว้ให้เป็นเมืองน่าอยู่

ผังเมืองอีอีซีจะไม่ลดสิทธิเดิมที่มีอยู่ให้น้อยลง คงดูผังเมืองเก่าประกอบกับทิศทางแนวทางในการพัฒนา ทำยังไงการพัฒนาไม่ติดขัด ทำแล้วทำให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่ได้รับความเดือดร้อน อันนี้เป็นโจทย์หลัก ส่วนพื้นที่เปิดใหม่ยังไม่มี ขณะนี้เรารอความชัดเจนเรื่อง แนวทางการพัฒนาอีอีซีจากรัฐ จะเอาโจทย์ตรงนั้นมาทำเป็นแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่อีอีซีทั้งหมด โดยให้สอดคล้องกับผังเมืองรวมเดิม และนโยบายอีอีซีที่จะพัฒนาเพิ่มขึ้น เราพูดมากไม่ได้ ราคาที่ดินแพง เดี๋ยวโครงการจะเกิดได้ยาก

Q : ความคืบหน้าผังเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

ผังเมืองรวมยังดำเนินการอยู่ ในหลายพื้นที่มีความคืบหน้า เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ประกาศกฎกระทรวงบังคับใช้แล้ว โดยจะเน้นในพื้นที่มีศักยภาพตามนโยบายรัฐ คือ แม่สอด สระแก้ว และสงขลา ให้เป็นรูปธรรมก่อน ส่วนที่เหลือทยอยดำเนินการ ยังติดปัญหาการจัดหาที่ดิน

Q : การวางผังระบายน้ำท่วม

จะดำเนินการ 25 ลุ่มน้ำ ออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย บังคับใช้ 1 ปี ดำเนินการเสร็จแล้ว 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ สะแกกรัง แม่กลอง ปราจีนบุรี โตนเลสาบ และชายฝั่งทะเลตะวันออก อยู่ระหว่างนำกฎหมายควบคุมอาคารและ พ.ร.บ.การขุดดินบังคับใช้ จะเสร็จเดือน เม.ย.นี้ มีห้ามก่อสร้างอาคารบางประเภท บางชนิด ในพื้นที่เสี่ยงภัย เรื่องของการห้ามถมดินในพื้นที่ขวางลำน้ำ ที่เหลือจะทยอยทำในปีนี้จนครบ


แนวทางต้องบริหารจัดการแม่น้ำ ลำคลองที่ธรรมชาติให้มา กับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นคือ ทางรถไฟ ถนน จะปรับยังไงไม่ให้ขวางทางน้ำไหล รวมถึงสิ่งที่จะสร้างเพิ่ม ฟลัดเวย์ คลองระบายน้ำ ในผังจะกำหนดไว้หมด ซึ่งหน่วยงานที่จะก่อสร้างจะต้องรู้ว่าสร้างตรงไหนจะไม่ขวางทางน้ำ