3 ปีเลียบเจ้าพระยา คสช. ติดหล่มรื้อย้าย-รอคิกออฟ-

หลังสองพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ “บิ๊กป๊อก-พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา” ซึ่งคุมบังเหียนกระทรวงคลองหลอด ออกแรงแข็งขันดันโปรเจ็กต์ในฝัน “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา” ให้เป็นจริง

โดยสั่ง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” หน่วยงานในสังกัดเดินหน้าโครงการ เริ่มต้นออกสตาร์ตเมื่อปลายปี 2557 จนถึงขณะนี้ใช้เวลาร่วม 3 ปี ในการผลักดัน แต่โปรเจ็กต์ยังไม่ได้ฤกษ์ตอกเสาเข็ม เนื่องจากระหว่างทางมีเสียงคัดค้าน จนต้องรีวิวแบบก่อสร้างโครงการใหม่อยู่หลายรอบกว่าจะลงตัว นำร่องเฟสแรกระยะทาง 14 กม. จากสะพานพระราม 7-สะพานปิ่นเกล้า

ล่าสุด “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเฟสแรก จะแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 สัญญา วงเงิน 8,362 ล้านบาท แต่ละสัญญาจะมีระยะทาง 3.5 กม.

ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 จากพระราม 7-คลองบางซื่อ วงเงิน 1,770 ล้านบาท ช่วงที่ 2 วงเงิน 2,470 ล้านบาท จากคลองบางซื่อ-สะพานปิ่นเกล้า ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7-คลองบางพลัด วงเงิน 2,061 ล้านบาท และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด-คลองสามเสน วงเงิน 2,061 ล้านบาท

ขณะนี้ กทม.เสนอ 3 สัญญาไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการ จากนั้นจะเปิดประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ต่อไป ซึ่งในวันที่ 17 ม.ค. 2561 จะมีการติดตามโครงการ โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมที่ผ่านมา ครม.อนุมัติงบประมาณให้แล้ว 495 ล้านบาท รื้อย้ายชุมชน 285 ครัวเรือน ได้แก่ ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ ชุมชนวัดสร้อยทอง ชุมชนวัดฉัตรแก้ว ชุมชนเขียวไข่กา ชุมชนราชผาทับทิม ชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม ชุมชนมิตตคาม 2 ชุมชนมิตตคาม 1 ชุมชนสีคาม และชุมชนวัดเทวราชกุญชร

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.อยู่ระหว่างเร่งรัดกระบวนการเปิดประมูลเพื่อให้โครงการเปิดประมูลทันภายในปีนี้ เนื่องจากโครงการล่าช้ามานาน จากเดิมกำหนดจะเปิดประมูลภายในเดือน ก.ย. 2560 เริ่มงานก่อสร้างปลายปี แต่ติด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ทำให้โครงการล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ส่ง 3 สัญญาให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้ว จากนี้น่าจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น หากได้ผู้รับก่อสร้างจะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี 6 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 หรืออย่างช้าในปี 2563

ที่ผ่านมาได้ปรับรูปแบบใหม่ มี 12 แผนงาน ได้แก่ 1.พัฒนาพื้นที่ชุมชน จะฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมวิถีชีวิตของชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว 2.พัฒนาจุดหมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร, สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7, พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี อีกทั้งยังให้ความสำคัญพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และเขตพระราชฐาน

3.พัฒนาท่าเรือ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางน้ำ และปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้อง เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ 4.พัฒนาเส้นทางให้เข้าถึงพื้นที่ เช่น ปรับปรุงตรอก ซอก ซอย และเข้าถึงพื้นที่ริมแม่น้ำ

5.พัฒนาทางเดินริมแม่น้ำ เชื่อมต่อพื้นที่มรดกวัฒนธรรมทั้งสองฝั่ง เช่น สะพานพระราม 8 ถึงวัดบวรมงคล และบางอ้อ ถึงวัดวิมุตยาราม มีทางเท้า ทางจักรยาน จุดชมทัศนียภาพ สะพานข้ามคลอง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนริมน้ำ

6.ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อนให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม ซ่อมแซมเขื่อนที่ชำรุด ก่อสร้างส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ 7.พัฒนาศาลาริมน้ำ ให้เป็นจุดพักผ่อน ศาลาคอย 8.พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ข้อมูลท่องเที่ยว จุดบริการจักรยาน

9.พัฒนาพื้นที่ศาสนสถานให้คำนึงถึงคุณค่าต่อศาสนา 10.พื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ จะปรับปรุงภูมิทัศน์และใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านการสัญจรและท่องเที่ยว 11.พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำบริเวณหลังเขื่อน รองรับกิจกรรมนันทนาการ ลานกีฬาและสวนสาธารณะ รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสียหลังเขื่อน

และ 12.สร้างสะพานคนเดินข้ามใหม่ 2 จุด คือ ชุมชนสะพานพิบูลฝั่งซ้าย ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี ฝั่งธนบุรี และห้างแม็คโคร สามเสน ไปยังท่าทราย ซอยจรัญสนิทวงศ์ 84 จะสร้างร่วมกับถนนเดิม ให้เป็นรูปแบบสะพานที่คนเดินข้ามได้


ยังต้องจับตาโครงการจะปักตอม่อทันวาระสุดท้ายของรัฐบาล คสช.ที่เหลือ 1 ปีหรือไม่