มะเร็งหลังโพรงจมูก ภัยเงียบคร่าชีวิต-

มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นอีกหนึ่งโรคมะเร็งร้ายที่กลายเป็นภัยเงียบและคร่าชีวิตผู้คนได้ไม่แพ้มะเร็งชนิดอื่น ๆ เนื่องจาก มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นโรคที่อยู่ในตำแหน่งที่ซ่อนเร้นยากแก่การตรวจพบ จึงทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการของระยะที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว และยากแก่การรักษา ซึ่งในแต่ละปีพบผู้ป่วยทั่วโลกเกือบ 1 ต่อประชากรแสนคน โดยเฉพาะในแถบเอเชียจะพบผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้มีเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ จีนตอนใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน

ประเทศไทย พบผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูก 25 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งพบว่าอุบัติการณ์ในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณสองเท่า ส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวถึงวัยกลางคน โดยในถิ่นที่มีความชุกของโรคสูงจะพบว่า มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus)

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่ามะเร็งหลังโพรงจมูกนี้เกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเพิ่มอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูกได้ คือ 1.พันธุกรรม จากการที่พบว่ามะเร็งหลังโพรงจมูกมีความชุกสูงเฉพาะในบางเขตภูมิศาสตร์ เช่น ในประเทศจีนตอนใต้ และส่วนอื่น ๆ ที่ชาวจีนอพยพไป ทำให้มีการศึกษาว่าพันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ 2.ไวรัส เป็นที่ยอมรับกันว่าไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus) มีส่วนสำคัญต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจะมีสารภูมิต้านทานต่อไวรัสชนิดนี้ ในปริมาณที่สูงกว่าประชากรทั่วไปที่มีสุขภาพดี 3.อาหารการกิน พบว่าในมณฑลกวางตุ้งซึ่งมีอุบัติการณ์ของมะเร็งหลังโพรงจมูกในอัตราสูงนั้น ประชาชนนิยมบริโภคปลาหมักเค็มกันมากกว่าส่วนอื่นของประเทศ ซึ่งเรื่องอาหารนั้นในประเทศไทยก็พบว่า มีข้อมูลที่คนไทยบริโภคอาหารที่มีสารไนโตรซามีนจำนวนมาก ซึ่งสารนี้มีอยู่ในเนื้อสัตว์ อาหารหมักดอง เช่น ไส้กรอก แหนม ปลาร้า ปลาเค็ม 4.สิ่งแวดล้อม มีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง ที่อาจมีผลต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก ได้แก่ ฝุ่นละออง ควันไฟจากการเผาไม้หรือหญ้า สารเคมีต่าง ๆ ตลอดจนการดื่มสุราและการสูบบุหรี่

พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์ตา หู คอ จมูก โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า อาการเบื้องต้นของโรคนี้ ผู้ป่วยอาจมีหูอื้อข้างเดียว มีเสียงดังในหูคัดแน่นจมูก มีน้ำมูกหรือเสมหะปนเลือด เมื่อโรคมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้คลำได้ก้อนที่คอข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เนื่องจากตำแหน่งของโพรงหลังจมูกอยู่ติดกับฐานสมอง ทำให้โรคสามารถลุกลามเข้าเส้นประสาทสมองหรือเข้าสมอง ทำให้ปวดศีรษะ หน้าชาด้านใดด้านหนึ่ง หรือเกิดการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน

การตรวจวินิจฉัย แพทย์จะเริ่มจากซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยเฉพาะบริเวณโพรงหลังจมูก หากสงสัยว่ามีความผิดปกติก็จะทำการส่องกล้องทางจมูกเพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจอีกครั้ง ในบางรายอาจตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสเอปสไตน์บาร์

สำหรับการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อหาระยะและขอบเขตของโรคนั้นสามารถทำได้ด้วย CT Scan หรือ MRI บริเวณโพรงหลังจมูกและบริเวณลำคอ ตรวจการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น เอกซเรย์ปอด อัลตราซาวนด์ตับและช่องท้อง การกระจายเข้าสู่กระดูก หรือ Bone Scan การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูกโดยหลัก คือ การใช้รังสีรักษาซึ่งอาจรวมกับการให้เคมีบำบัดขึ้นอยู่กับระยะการดำเนินโรคของมะเร็ง ส่วนการผ่าตัดมีบทบาทน้อย เนื่องจากตำแหน่งของโรคอยู่ติดกับอวัยวะสำคัญ เช่น เส้นประสาทสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่ในสมองและส่วนเนื้อสมอง การผ่าตัดก่อให้เกิดอันตรายและความพิการสูงมาก ประกอบกับเซลล์ของมะเร็งส่วนใหญ่จะตอบสนองดีต่อการฉายรังสี ดังนั้นการผ่าตัดจึงมีบทบาทในกรณีหลังรักษาแล้วแต่ยังคงมีเนื้อมะเร็งเหลือค้างอยู่

มะเร็งหลังโพรงจมูก นับว่าเป็นภัยเงียบที่ซ่อนเร้น แต่หากตรวจพบเร็วก็จะรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมที่อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งหลังโพรงจมูก รวมถึงการปฏิบัติตัวและดูแลพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ก็เป็นการป้องกันภัยเงียบจากมะเร็งชนิดนี้ได้