เป้าหมาย อยู่ในหมู่บ้าน-

คอลัมน์ CSR Talk

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

นับตั้งแต่วัยหนุ่มของพ่อแดง คนบ้านโต้น อ.พระยืน จ.ขอนแก่น ยึดอาชีพขายเสื่อที่รับจากโรงงานในอำเภอเข้าไปขายในกรุงเทพฯ แม้จะมีรายได้หลักหมื่นต่อเดือน พอเลี้ยงครอบครัวเล็ก ๆ แต่ไม่เคยเหลือเก็บ ชีวิตที่เร่ร่อน ค่ำไหนนอนนั่น กินเหล้าเมายา ทำให้เขารู้สึกถึงความไม่แน่นอน หลักลอยเคว้งคว้าง เช่นเดียวกับลุงสุดใจ เกษตรกรคนขยันของตำบลช่องสาริกา เจ้าของพื้นที่ 200 ไร่ ปลูกอ้อย ปลูกมัน ส่งขายโรงงานในแต่ละปี หักกลบลบหนี้ไม่มีเงินเหลือเก็บ เพราะรายได้ที่มาปีละครั้งกับรายจ่ายที่เป็นรายวัน ไม่สมดุลกัน

กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 คนได้รู้จักกับการทำเกษตรกรรมที่นำเอาแนวคิดการปรับปรุงงานในโรงงานอุตสาหกรรมมาประยุกต์ใช้ ทำให้ชีวิตของทั้งสองคนเปลี่ยนไปราวกับพลิกฝ่ามือ

แนวคิดในการปรับปรุงงานทำให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ รู้จักการใช้ข้อมูล รู้จักการประเมินความเหมาะสมของดิน น้ำ พันธุ์พืช ทำให้ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เช่น การใช้ปุ๋ยที่เกษตรกรมักจะซื้อสูตรสำเร็จมาใช้ แต่ถ้ามีการวิเคราะห์ดินก่อนการเพาะปลูก จะทำให้รู้ว่าจะต้องบำรุงดินอย่างไร ปุ๋ยชนิดใดที่เหมาะสม อะไรที่เกินความจำเป็นกลายเป็นความสูญเปล่า หรือการเลือกสายพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นต้น

ที่น่าตื่นใจไปกว่านั้นคือ ด้วยวิธีนี้ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว

วันนี้ พ่อแดงกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในพื้นที่ 5 ไร่ ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกข้าว ปลูกมะพร้าวน้ำหอม กล้วย ผลไม้นานาชนิด และผักสวนครัว เลี้ยงปลาดุก กบ ในบ่อ ส่วนลุงสุดใจ หลังจากสามารถเพิ่มผลผลิตในพืชหลัก คือ มันสำปะหลัง และอ้อยได้แล้วก็หันมาปลูกพืชเสริมหารายได้ระหว่างรอรายได้หลัก เช่น ผักชี ที่ใช้เวลาเพียง 45 วัน ในพื้นที่ 1 ไร่ มีรายได้เข้ามาถึงแสนกว่าบาท นอกจากนั้นยังมี มะเขือ มะนาว เป็นรายได้ที่เข้ามาทุกวัน

ความรู้สึกมั่นคงที่ฉายอยู่ในแววตาของพ่อแดง และลุงสุดใจ ตัวอย่างเกษตรกรหัวไว ใจสู้ เปลี่ยนชีวิตในวังวนของหนี้สิน จนยืนหยัดเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนซึ่งพิสูจน์ได้ คือ เป้าหมายชัดเจนของการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่

ในหนังสือเล่มล่าสุดของ “Muhammad Yunus” ผู้ก่อตั้ง Grameen Bank สถาบันการเงินของคนที่ยากจนในบังกลาเทศ กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากระบบทุนนิยม คือ การต้องออกแบบกลไกทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ที่มีลักษณะ 3 ประการ คือ

หนึ่ง สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม

สอง สนับสนุนคนในวัยทำงานให้เป็นผู้ประกอบการ

และสาม มีสถาบันการเงินที่ช่วยสนับสนุนคนเหล่านั้นสำหรับการก้าวเดินด้วยตนเอง (ข้อมูลจาก https://thaipublica.org/2017/12/pridi80/)

ในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้รับการขานรับจากภาครัฐ และเอกชนอย่างพร้อมเพรียง มีการแจกแจงรายละเอียดอย่างชัดเจนว่าประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง คำถามคือประเด็นเหล่านั้นสามารถกำหนดเป็นตัวชี้วัดในงาน CSR ได้หรือไม่

แต่ละปีในพื้นที่รับผิดชอบความยากจนในแต่ละครัวเรือนจะลดลงได้เท่าไหร่ คนในชุมชนได้รับการดูแลสุขภาพในแต่ละช่วงวัยตามมาตรฐานกี่เปอร์เซ็นต์ เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สามารถพึ่งพาตนเองได้จำนวนเท่าไหร่

เป้าหมายในการทำงาน ภาพที่อยากจะเห็นคืออะไร ไม่ว่าจะใช้คำใด ทั้งคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง การพัฒนาที่ยั่งยืน ควรเป็นภาพชีวิตของคนในชุมชนที่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ สนับสนุนโอกาสที่จะช่วยให้พวกเขาลุกขึ้นมา และก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง

แนวคิดของ “Yunus” ได้รับการเผยแพร่ และนำไปใช้ในประเทศยากจนหลายประเทศ ยูกันดาเป็นหนึ่งในเจ็ดประเทศที่ใช้แนวทางนี้แก้ไขปัญหาความยากจน การว่างงาน และความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเห็นผล

ช่องสาริกาโมเดล จังหวัดลพบุรี เป็นต้นแบบที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีเป้าหมายจับต้องได้ วัดได้ ด้วยการจัดระบบวิธีคิด ทดลองทำให้เห็นจริง จากหนึ่งครอบครัวขยายตัวไปสู่ชุมชน จนถึงปลายทางคือ องค์กรชุมชนที่บริหารจัดการตนเองได้ มีอำนาจต่อรองทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

พ่อแดงและลุงสุดใจคือผลลัพธ์ที่จับต้องได้ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งสองคนกำลังก้าวเดินต่อไปในฐานะผู้นำ ผู้สนับสนุนให้คนอื่นในหมู่บ้านลุกขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดพลังของการร่วมกันบริหารจัดการชุมชนของตนเองอย่างที่ต้องการ

และเมื่อวันนั้นมาถึง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะเกิดขึ้นได้จริง