“จีน” ประเทศคู่เจรจาอาเซียน ย่างก้าวในยุคมังกรผงาด-

ภาพจาก : www.culturedereatures.com

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย ประดาป พิบูล TEAM GROUP

ปี 2561 นับได้ว่า “มังกร” ตื่นมาแล้ว 40 ปี ภายใต้การริเริ่มของผู้นำสูงสุด เติ้ง เสี่ยวผิง ช่วงนั้นจีนขะมักเขม้นทุ่มเททรัพยากร สร้างตนเองให้ทัดเทียมประเทศที่พัฒนา ด้วยหลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ ตอบรับทุนนิยม ผลลัพธ์ที่ได้แม้ว่าจีนไม่มี สตีฟ จ็อบส์ แต่ก็มี แจ็ก หม่า ผู้เขย่าวงการค้าโดยใช้เทคโนโลยี 4.0

ที่สำคัญ “มังกร” พร้อมแล้วที่จะผงาดเยี่ยงอภิมหาอำนาจบนเวทีสากลด้วยลีลาที่ “โดดเด่น สง่า และผาดโผน”

ความโดดเด่นปรากฏเมื่อจีนเปิดตัวโครงการ “เปลี่ยนเกม” ระดับยักษ์ใหญ่ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง-บีอาร์ไอ” ปลายปี 2558 เปลี่ยนแนวคิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ทุกสายตาจับจ้องมองว่ามีทีเด็ดอะไร อาเซียนนั้นคุ้นเคยกับเรื่องนี้ เพราะโหมโรงดำเนินการตามแผนแม่บทการเชื่อมโยงมาเกือบ 10 ปี จนกระทั่งได้รับความสนใจและความร่วมมือจากคู่เจรจาทั้งหลาย จนกลายเป็นนโยบายยอดนิยม ซึ่งทุกการประชุมสุดยอดจะต้องกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญ…”

และจีนก็สนับสนุนตลอดมา แต่ก็เหนือความคาดคิดที่จีนประกาศใช้นโยบาย “บีอาร์ไอ” เพื่อเชื่อมโยงเอเชียกับยุโรป ซึ่ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เปิดตัวให้โลกรับรู้และผลักดัน

“…สร้างความอยู่ดีกินดีให้สำเร็จ เพื่อชัยชนะของระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีอัตลักษณ์แบบจีนยุคใหม่ ในการฟื้นฟูอารยธรรมจีนให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง…”

บีอาร์ไอ หรือข้อริเริ่มเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ครอบคลุม 60 ประเทศ จากจีนถึงอิตาลีผ่านตะวันออกกลางและแอฟริกาตะวันออก ประกอบด้วยระเบียงเศรษฐกิจ 6 เส้นทางบก เชื่อมกันด้วยถนนและทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจีนสร้างไปแล้ว 20,000 กม. ได้แก่ จีน/รัสเซียตะวันตก มองโกเลีย/รัสเซียตะวันออก เอเชียกลาง/ตุรกี แหลมอินโดจีน/สิงคโปร์ ปากีสถาน และพม่า/บังกลาเทศ/อินเดีย และหนึ่งระเบียงเศรษฐกิจทางทะเลสิงคโปร์/เมดิเตอร์เรเนียน

นอกจากนี้จีนยังได้เปิดตัวโครงการ “เปลี่ยนเกม” กระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนและโลกภายนอก ภายใต้นโยบายพัฒนาเขตภาคใต้ใน พื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ด้วยการปรับฮ่องกงให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกและส่งเสริมการทำธุรกิจด้วยเงินหยวน มาเก๊าเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และเวทีความร่วมมือกับประเทศที่พูดภาษาโปรตุเกส และมณฑลกวางตุ้งเป็นพื้นที่ปฏิรูป โดยเน้นการผลิตด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีล้ำยุค

ใน 5 ปีข้างหน้า จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำบนเวทีโลกอย่างสง่าและมั่นใจ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำอีกวาระหนึ่ง เศรษฐกิจมีการปรับตัวให้สมดุล คาดว่าขยายตัวได้ถึงร้อยละ 6 (โออีซีดี) เงินเฟ้อร้อยละ 1.9 (2560) หนี้ครัวเรือน ร้อยละ 44.83 ของรายได้ประชาชาติ (บลูมเบิร์ก) และหนี้สินที่ยังสูงมากของภาคส่วนที่มิใช่การเงินจะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จีนยังยึดนโยบายต่างประเทศที่สร้างสรรค์ อาทิ การแก้ปัญหาโลกร้อน และความร่วมมืออันดีกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

จีนเป็นคู่เจรจาอาเซียนมากว่า 25 ปี เป็นประเทศแรกที่ภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความมั่นคง แสดงความพร้อมที่จะลงนามในพิธีสารจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ส่วนอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 รองจากสหภาพยุโรปและสหรัฐ

ไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนตั้งแต่ปี 2518 มีสายใยที่ “ใกล้ชิดแน่นแฟ้น มีพลวัตสูง มีการขยายความร่วมมือเชิงลึกในทุกมิติ…” จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ทั้งสินค้าส่งออกและนำเข้า ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 10

สำหรับนักธุรกิจไทยที่ต้องการติดต่อกับจีน ฮ่องกง มีองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกงตั้งอยู่ที่ตึกสาทร สแควร์ เพื่อส่งเสริมการค้าและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางติดต่อในภูมิภาค นอกจากนี้สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีนมีที่ทำการที่อาคารโฟร์ซีซั่น ส่วนฝ่ายไทย สภาธุรกิจไทย-จีนทำหน้าที่เป็นองค์กรคู่ประสาน

จีนเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลในทุกมิติเพื่อเชื่อมโยงเอเชียกับยุโรป สิ่งที่ท้าทายอาเซียน นอกจากการแข่งขันทางการค้าการลงทุนแล้ว วิธีแก้ปัญหา ทะเลจีนใต้ ด้วยท่วงทีที่ผาดโผนมีผลต่อเสถียรภาพของภูมิภาค อย่างไรก็ดี ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนปีที่แล้ว สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดี

10 ปีข้างหน้า คาดว่าจีนจะมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดแซงหน้าสหรัฐและยุโรป อาเซียนจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลจีนในทุกมิติ แต่ก็พร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ภายใต้วิสัยทัศน์ 2568 ไทยเองจะเชื่อมโยงกับจีนด้วยรถไฟความเร็วสูงและระเบียงเศรษฐกิจ 6 เส้นทางตามเส้นทางสายไหม

ศตวรรษที่ 21 การแข่งขันจะเข้มข้นขึ้น และความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการถูกควบรวมกิจการ


จีนเป็น 1 ใน 9 ประเทศและ 2 กลุ่มประเทศคู่เจรจา อาเซียนและไทยจะต้องใช้ความชาญฉลาดในการประสานผลประโยชน์ เพราะมิใช่เฉพาะมังกรที่ผงาด แต่ดินแดนภารตก็กำลังเบิกบานและอาทิตย์อุทัยฉายแสงสว่างไสว