เมื่อ “บิล เกตส์” นั่ง บก.ไทม์ ชูมุมมอง “โลกกำลังดีขึ้น”-

REUTERS/Elizabeth Shafiroff

แม้ว่าโลกปัจจุบันจะปรากฏแต่เรื่องราวในมุมลบ ผ่านการนำเสนอข่าวจากทั่วโลก ตั้งแต่ข่าวภัยธรรมชาติจนไปถึงสงครามในทุกรูปแบบ ทว่า “บิล เกตส์” มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของโลก หรือที่หลายคนรู้จักในฐานะเจ้าพ่อ “ไมโครซอฟท์” กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป โดยยืนยันว่า “โลกนั้นกำลังจะดีขึ้น” ผ่านตัวหนังสือใน “นิตยสารไทม์” เป็นครั้งแรกกับบทบาทการเป็น “บรรณาธิการรับเชิญ”

บิล เกตส์ ได้รับเชิญให้เป็นบรรณาธิการในนิตยสารไทมส์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งนิตยสารมา 94 ปี โดยได้วางคอนเซ็ปต์ของนิตยสารฉบับนี้ภายใต้แนวคิด “The Optimist” หรือ “บุคคลที่มองโลกในแง่บวก”

บทบรรณาธิการของ “บิล เกตส์” นำเสนอว่า การอ่านข่าวทุกวันนี้ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าอยากจะมองโลกในแง่ดีอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของพายุเฮอริเคนที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้กับสหรัฐอเมริกา, เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง, ความตึงเครียดจากเรื่องอาวุธนิวเคลียร์, ปัญหายาวที่เกิดขึ้นในเมียนมา รวมถึงมหากาพย์สงครามในซีเรียและเยเมน สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เกิดความกลัวและหวาดระแวงขึ้นภายในจิตใจ

อย่างไรก็ตาม เกตส์เชื่อว่าโลกกำลังจะดีขึ้น และส่วนดีหลงเหลืออยู่ก็คือ ผลกระทบจากเหตุร้ายไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และไม่ได้เป็นเพียงความเชื่อลม ๆ แล้ง ๆ แต่เกตส์มีข้อมูลตัวเลขมาสนับสนุน ที่ว่าตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา จำนวนเด็กที่ตายก่อนอายุ 5 ปี ลดลงกว่าครึ่งภายในสี่ศตวรรษ ส่งผลให้มีเด็กรอดชีวิตถึง 122 ล้านคน รวมถึงประชากรกว่า 1 ใน 3 ที่เคยอาศัยด้วยความยากจน ปัจจุบันลดเหลือเพียง 1 ใน 10

ขณะที่ศตวรรษที่ผ่านมา มีราว 20 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ และกว่า 100 ประเทศทั่วโลกเปิดกว้างให้ผู้หญิงมีบทบาทในตำแหน่งการเมือง ทั้งยังมี 1 ใน 5 ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐสภาแห่งชาติในปัจจุบัน นอกจากนี้โลกยังรับฟังเสียงของสิทธิสตรีมากขึ้น เมื่อผู้หญิงเจอเหตุการณ์คุกคามทางเพศ รวมถึงกว่า 90% ของประชากรเด็กได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา

บิล เกตส์

“ผมไม่ได้พยายามจะลดความสำคัญหรือเพิกเฉยต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น เพียงแต่พยายามที่จะสร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้ทุกคนคิดบวกมากขึ้น ซึ่งมันจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า”

นอกจากนี้ บิล เกตส์ ยังระบุอีกว่า ตามธรรมชาติของข่าวคนจะฟังและรับรู้ถึง “ข่าวร้าย” มากกว่า “ข่าวดี” เห็นได้จากหลาย ๆ กระแสที่ขึ้นพาดหัวข่าวในแง่ลบต่อความรู้สึกจะได้รับความสนใจมากกว่า

“ช่องว่างระหว่างเหตุการณ์ร้ายกับความอดทนของคนก็ขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาที่ไม่น่าพึงพอใจตามความคาดหวังจะทำให้มนุษย์เริ่มรู้สึกว่าโลกกำลังแย่ลง แต่บางทีหากเราต้องการปฏิรูปโลกใบนี้ ข่าวร้ายก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรับรู้”

นิตยสารไทม์ฉบับพิเศษนี้ บิล เกตส์ ยังใช้โอกาสการเป็นบรรณาธิการ เชิญให้ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นมาเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความเกี่ยวกับการทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น อย่างเช่น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” อีกหนึ่งมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลกกับตำแหน่งซีอีโอ Berkshire Hathaway ที่นำเสนอเรื่อง “อัจฉริยภาพของชาวอเมริกัน” โดยให้มุมมองในเรื่องของความเพียบพร้อมของสหรัฐ ทั้งนโยบายการเป็นผู้นำการเมือง อนาคตของเด็กอเมริกันที่ได้รับการยอมรับในสากลโลก รวมถึงประโยชน์จากผู้ลี้ภัยมากกว่าเสีย

โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมที่ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.2% ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งมีแนวโน้มที่ดีในการปรับเพิ่มรายได้ประชากรต่อหัว จากปัจจุบันอยู่ที่ 59,000 ดอลลาร์ สู่ 79,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นสิ่งการันตีได้ถึงอนาคตที่สดใสของอเมริกา

ส่วนเรื่อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในฉบับนี้ โดยมีผู้เขียนถึง 3 ท่าน ได้แก่ โบโน นักร้องนำวง U2, มาลาลาห์ ยูซัฟซัย สาวน้อยชาวปากีสถานวัย 17 ปี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2014 รวมทั้ง “เมลินดา เกตส์” คู่ชีวิตของเกตส์ ที่นำเสนอประเด็นในมุมต่าง ๆ จากประสบการณ์ตรง แต่มีใจความเพียงหนึ่งเดียวคือ “ผู้หญิง” กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและมีบทบาทมากขึ้นสำหรับโลกในอนาคต


“เมลินดา เกตส์” ซึ่งเป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเนื้อหาในนิตยสารฉบับนี้ ปิดท้ายเล่มด้วยการนำเสนอมุมของกลุ่มสตรีสามัญชนจากทั่วทุกมุมโลก ที่ลุกฮือขึ้นมาประท้วงเพื่อสิทธิสตรีหญิงมากขึ้น เช่น ประท้วงเพื่อกลุ่มแรงงานหญิง และเรียกร้องแคมเปญที่ปกป้องสิทธิสตรี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง อาทิ ในประเทศปากีสถานและเอธิโอเปีย เป็นต้น