ปมอาหารสนามบิน “แพง” จ่อปรับเกณฑ์ “สัมปทาน” ใหม่-

เป็นประเด็นดังและถูกพูดถึงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามากพอสมควร สำหรับเรื่องอาหารในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิที่มีสื่อต่างชาติระบุว่า “แพง”

ทำให้มีการประชุมหารือระหว่างกระทรวงคมนาคม และ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ขึ้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

“ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อเรื่องนี้ว่า ในอดีตตอนที่ประเทศไทยยังมีแค่สนามบินดอนเมือง ทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เคยบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์เองก็มีปัญหามากมาย เช่น เรื่องความสะอาด เนื่องจากผู้เช่ามีความหลากหลาย

แต่พอมีสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2549 หรือ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จึงมีการเปลี่ยนแนวคิดและเปิดประมูลสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวเพียงรายเดียว ส่งผลให้ต้องมีการเช่าช่วงพื้นที่ของร้านค้ารายย่อย

ระดมทีมลงพื้นที่สำรวจราคา

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางทีมงานของกระทรวงคมนาคมได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสนามบินดอนเมืองไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา พบว่ามีร้านอาหารขายราคา 50-60 บาท (ราว 2 เหรียญสหรัฐ) แบบปรุงสด ซึ่งในเมืองนอก โอกาสที่จะเห็นอาหารแบบปรุงร้อนราคานี้แทบจะไม่มีเลย

และในวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ทางทีมงานของกระทรวงคมนาคมได้ลงพื้นที่ตรวจสอบค่าอาหารและเครื่องดื่มในสนามบินสุวรรณภูมิเช่นกัน ซึ่งก็คงต้องเก็บข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์อีกครั้งว่าแพงจริงหรือไม่ และแพงแบบมีทางเลือกหรือไม่, ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่มีอยู่แล้วหรือไม่ และแนวทางที่เราให้บริษัทดังกล่าวไปบริหารจัดการทั้งที่ดอนเมืองและสุวรรณภูมินั้นเป็นแนวทางที่ดีหรือไม่

“เราต้องถามตัวเราเองก่อนว่าร้านอาหารในสนามบินนานาชาติที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร คำตอบก็คือ ต้องมีความหลากหลาย เพราะว่าประเทศไทยมีชื่อในเรื่องอาหารที่อร่อย เราก็อยากจะแสดงให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงความหลากหลายทั้งเรื่องคุณภาพและปริมาณ นี่จึงเป็นที่มาของการบริหารจัดการเรื่องอาหารที่สนามบินสุวรรณภูมิ”

“ไพรินทร์” บอกอีกว่า ส่วนเรื่องอาหารที่สนามบินมีราคาถูกหรือแพงนั้น ควรให้ผู้บริโภคเป็นคนเลือก บางคนอยากนั่งทานสบาย ๆ แล้วมีคนมาเสิร์ฟ บางคนอยากได้ร้านอาหารราคาเป็นกันเอง และยินดีบริการตัวเอง นี่คือคอนเซ็ปต์การดำเนินการร้านอาหารที่สุวรรณภูมิ และดอนเมือง

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เร่งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่า สนามบินของประเทศไทยมีร้านอาหารหลากหลายทางเลือกไว้บริการเตรียมปรับเกณฑ์ประมูลรอบใหม่

ทั้งนี้ ในสัญญาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ทาง ทอท.ได้ทำไว้กับบริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด นั้นจะหมดสัญญาลงในปี 2563 ทำให้ในอีก 1 ปีกว่า ๆ นับจากนี้จะต้องมีการจัดประมูลสัมปทานกันใหม่

ทางกระทรวงจึงอยากทราบความเห็นของประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าคิดเห็นอย่างไร เพื่อนำมาถกกันอีกครั้งว่าจะเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการจัดการหรือไม่ และแนวคิดที่ทาง ทอท.ให้เอกชนรายเดียวไปบริหารจัดการพื้นที่นั้นมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร และการที่ ทอท.ไปบริหารจัดการพื้นที่เอง มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อนำมาปรับปรุงเกณฑ์การประมูลในรอบใหม่นี้

“ไพรินทร์” กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าการสร้างสนามบินแห่งหนึ่งใช้งบประมาณมหาศาล และการให้บริการในพื้นที่สนามบินเป็นเรื่องค่อนข้างยากลำบาก อย่างสนามบินดอนเมือง เที่ยวบินแรกที่ให้บริการอยู่เวลาประมาณ 04.00 น. ส่วนที่สุวรรณภูมิมีเที่ยวบินขึ้นลงตลอดทั้งวัน

รับต้นทุนร้านในสนามบินสูง

นั่นหมายความว่าร้านอาหารในสนามบินเหล่านี้เปิดให้บริการเฉลี่ย 16-18 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นร้านอาหารเหล่านี้ก็จะมีต้นทุนค่าแรงและอื่น ๆ สูงกว่าร้านอาหารนอกสนามบิน

“ผมจึงอยากให้แยกว่าถูกแพงเป็นเรื่องของความรู้สึก สิ่งสำคัญคือการคุมปลายทางที่ราคาอาหารให้เป็นไปตามสัญญา คือราคาต้องสูงไม่เกิน 25% ของการขายในห้างสรรพสินค้าอย่างตรงไปตรงมา”

เพราะถ้าถามว่าถูกหรือแพง มาตรฐานของคนไทยอาจเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคนที่เดินทางไปต่างประเทศเรื่อย ๆ สมมติว่าไปสหรัฐอเมริกา ถ้าหากจะทานอาหารร้อนแบบปรุงเอง ไม่ใช้ไมโครเวฟ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 7 เหรียญสหรัฐ ดังนั้นราคาอาหารปรุงร้อนของสนามบินบ้านเราอยู่ในระดับ 2 เหรียญสหรัฐ ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ โดยมีร้านสะดวกซื้อเป็นทางเลือก คอยให้บริการนักเดินทางที่ต้องการใช้จ่ายแบบประหยัดที่สุด

ส่วนราคาอาหารในสนามบินสุวรรณภูมิ มีคนในโซเชียลมีเดียบอกว่าจริง ๆ อยู่ที่ระดับราคานี้มา 8-9 ปี หรือตั้งแต่ปี 2553 แล้ว

เร่งสร้างความเข้าใจนักท่องเที่ยว

ด้าน “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯช่วยได้คือ การประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่า ร้านอาหารราคาย่อมเยาอยู่ตรงจุดไหนของสนามบิน มีโครงสร้างราคาแบบไหน และมีเมนูใดบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่ ภารกิจของทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯจึงเป็นเรื่องของการรับโจทย์จากผู้รับบริการมาบอกกล่าว และนำคำอธิบายจากผู้ให้บริการไปบอกต่ออีกทีว่ามีแนวทางจัดการต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

“ในที่ประชุมทางนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอกว่า งานของ ทอท.ควรเอาบริการเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เพียงแค่เอาตัวธุรกิจเป็นตัวตั้ง หากตั้งโจทย์ได้ตรงแล้วรายละเอียดที่เหลือจะตามมาเอง”

ไม่เพียงเท่านี้ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังอยากให้มีจุดให้เด็กได้เล่นในสนามบิน หรือมีกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการสนามบินในตอนเช้า หรือใช้หอบังคับการบินที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาเปิดเป็นร้านอาหารสำหรับบริการนักท่องเที่ยวด้วย