5 กลุ่มนักลงทุนตบเท้าเข้า EEC “อมตะ-ปิ่นทอง” ยื่นขอเขตส่งเสริมอุตฯ-

5 นักลงทุน WHA-อมตะ-TFD-ปิ่นทอง-ยามาโตะ ขยายพื้นที่เพิ่ม 18 นิคม 26,000 ไร่ รองรับนักลงทุนใน EEC คาด “C.P.แลนด์” ระยอง เล็งขึ้นนิคมอุตสาหกรรมใหม่รองรับทัพนักลงทุนจีน ฮ่องกง ไต้หวัน อีก 3,000 ไร่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้เตรียมพื้นที่ 18 แห่ง จำนวน 26,461 ไร่ เพื่อเตรียมประกาศเป็น “เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม” จาก 5 กลุ่มนักลงทุนภาคเอกชนทั้งหมด จะเป็นการรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่คาดว่าจะมีเงินลงทุนสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นกลุ่มพื้นที่ดำเนินการพัฒนาโดยบริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)1 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 จ.ฉะเชิงเทรา เป็นกลุ่มพื้นที่ดำเนินการพัฒนาโดยบริษัท อเมริกัน บิวเดอร์ จำกัด 1 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมยามาโตะ จ.ชลบุรี

กลุ่มพื้นที่ดำเนินการพัฒนาโดยบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร 2 จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ระยอง กลุ่มพื้นที่ดำเนินการพัฒนาโดยบริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด 4 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 2 จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 4 จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 3 จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 5 จ.ชลบุรี

และกลุ่มพื้นที่ดำเนินการพัฒนาโดยบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA 9 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี 2, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (HESIE) จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (HESIE) 3 จ.ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชระยอง 36 จ.ระยอง, นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก มาบตาพุด จ.ระยอง, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (HESIE) จ.ระยอง

ซึ่งก่อนนี้ได้ประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมไปแล้ว 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทพาร์ค จ.ระยอง เนื้อที่ 1,400 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (HESIE) 4 จ.ระยอง เนื้อที่ 1,900 ไร่ ซึ่งได้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิเศษในส่วนของการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องเป็น S-curve และร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงานนั้น ๆ หรือขั้นต่ำ 50 คน เวลา 1 ปี

นอกจากนี้ นักลงทุนจีนได้ขอให้ทาง กรศ.หาพื้นที่เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะสำหรับนักลงทุนจีน ฮ่องกง ไต้หวัน คาดว่าจะใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซี.พี.แลนด์ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง จำนวน 3,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการพัฒนาโดยบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ได้หารือกับนักลงทุนเป้าหมายใหม่คือ ไห่หนานแอร์ไลน์ (S) ดังนั้นนักลงทุนจีนยังคงถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ยังคงต้องการให้มาลงทุนในไทย เช่นเดียวกันจีนที่สนใจหลายพื้นที่และหลายอุตสาหกรรม แต่ยังคงยืนยันว่าไทยต้องการอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสูงเท่านั้น

และล่าสุดทางกลุ่มอาลีบาบาผู้ถือหุ้นบริษัทลาซาด้า ได้เข้าหารือเพื่อปรับแผนการลงทุนใหม่ใน EEC โดยจะเพิ่มรายละเอียดในตัวโครงการให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างแพลตฟอร์มให้ SMEs ไทยสามารถขึ้นมาสู่การค้าขายบนออนไลน์ได้ ซึ่งขอเวลา 1 เดือนและจะกลับมายื่นเสนอแผนลงทุนพื้นที่ภายในเดือน ก.พ.

สำหรับ 5 โครงการในพื้นที่ใน EEC ที่เป็นโครงสร้างพื้นที่หลักจะเริ่มร่างขอบเขตงาน (TOR) และเปิดยื่นประมูลหานักลงทุนภายในปี 2561 ทั้งหมด 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิอู่ตะเภา จะเปิด TOR และประกาศให้เอกชนที่สนใจยื่นประมูลได้ปลายเดือน ก.พ. 2.สนามบินอู่ตะเภา จะเปิด TOR มี.ค. ประกาศยื่น ก.ค. 3.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานหรือ MRO ประกาศ TOR เดือน มี.ค. ประกาศยื่นประมูล พ.ค. 4.ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ประกาศ TOR เดือน มิ.ย. ประกาศยื่นประมูล ก.ย. และ 5.ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ประกาศ TOR เดือน ส.ค. ประกาศยื่นประมูล พ.ย.

นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ทั้งนี้การลงทุนในพื้นที่ EEC คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี (2560-2564) จากเป้าเดิมที่ตั้งไว้ 500,000 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 100,000 ล้านบาท ซึ่งจากตัวเลขปี 2560 ที่ผ่านมา โดยมียอดขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอในพื้นที่ EEC ถึง 296,889 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรม S-curve 84% หรือกว่า 250,000 ล้านบาท


“หลังจากได้ประชุมรายงานความคืบหน้าให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจรับทราบถึงแผนการลงทุน ดังนั้นในการประชุม กรศ.วันที่ 17 ม.ค.นี้ จึงจะเสนอพื้นที่ 18 แห่งที่จะเป็นเขตส่งเสริม และวันที่ 1 ก.พ.สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเสนอและรายงานเป้าหมายเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่ EEC ใหม่”