เร่งทำแผนข้าวครบวงจร ตั้งเป้า 30 ล้านตันปี 2561-

แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรปี’61/62 เกษตรฯเล็งเป้าหมาย 30 ล้านตันข้าวเปลือก “อนันต์ สุวรรณรัตน์” ระบุชาวนาเริ่มผลิตข้าวตรงกับความต้องการตลาดมากขึ้น ดันพาณิชย์หาตลาดข้าวใหม่ ๆ แทนผู้ส่งออก ขณะที่เกษตรแปลงใหญ่ข้าวปีนี้เพิ่มเท่าตัวเป็น 2,350 แปลง

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรว่า ในเร็ว ๆ นี้จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังเพื่อจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรปี 2561/2562 คาดว่าปีการผลิตต่อไปนี้ ที่เป็นปีปกติตั้งเป้าผลผลิตข้าวเปลือกไม่เกิน 30 ล้านตัน เทียบกับปี 2560/2561 ตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 29.5 ล้านตัน และปีก่อนหน้านั้นตั้งเป้าผลิตที่ 25 ล้านตัน เพราะยังมีสต๊อกข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีค่อนข้างมาก

“อุปสงค์ อุปทาน ข้าวปี 2560/2561 มีการแยกเป็นรายชนิดข้าว มีการแยกข้าวแข็ง ข้าวนุ่มเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น คือ เป็นข้าวหอมมะลิ 8.07 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวหอมจังหวัด 1.39 ล้านตัน ข้าวหอมปทุม 1 ล้านตัน ข้าวเจ้า 12.2 ล้านตัน ข้าวเหนียว 6.72 ล้านตันและอื่น ๆ (ข้าวสีและข้าวอินทรีย์) 1.2 แสนตัน จากพื้นที่ปลูก 66.69 ล้านไร่ แยกเป็นการปลูกรอบที่ 1 พื้นที่ 58.68 ล้านไร่ ผลผลิต 24.34 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 8.01 ล้านไร่ ผลผลิต 5.16 ล้านตันข้าวเปลือก”

ต่อไปทุกฝ่ายต้องไม่คิดว่าข้าวเหมือนกันหมด จากการประเมินแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรที่ดำเนินการมา 2 ปี ชาวนาเริ่มมีการเชื่อมโยงการผลิตข้าวเปลือกให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องปรับตัวตามด้วย ไม่ใช่พอมีปัญหาเรื่องเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดหรือข้าวพันธุ์ที่ตลาดไม่ต้องการ กระทรวงเกษตรฯต้องไม่ไปส่งเสริมหรือแนะนำชาวนาให้ปลูกพันธุ์ที่ตลาดไม่ต้องการ ส่วนกระทรวงพาณิชย์ต่อไปก็ต้องหาตลาดข้าวต่างประเทศใหม่ ๆ มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าปลูกข้าวพันธุ์นี้มีตลาดรองรับ จะให้เอกชนไปเปิดตลาดแทนไม่ได้ เพราะเอกชนต้องคำนึงถึงการค้าที่ผลกำไรต้องมาก่อน

สำหรับพื้นที่การทำเกษตรแปลงใหญ่ในส่วนของข้าวปี 2560 อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า มีทั้งหมด 1,175 แปลงทั่วประเทศ พื้นที่รวมประมาณ 1.7-1.8 ล้านไร่ เทียบกับปี 2559 ที่มีประมาณ 300 แปลง ปี 2561 จะมีแปลงใหญ่ข้าว 2,350 แปลง และเป้าหมายแปลงใหญ่ข้าวปี 2564 จะมีพื้นที่ประมาณ 18-19 ล้านไร่ จากพื้นที่ทำนาทั่วประเทศประมาณ 60 ล้านไร่ หรือประมาณ 1 ใน 3 พื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ

“ช่วงนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตข้าวแปลงใหญ่ปี 2560 ว่าจะลดได้กี่เปอร์เซ็นต์ แต่คาดว่าจะลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 15% ปัญหาของแปลงใหญ่ข้าวที่ผ่านมาคือ การบริหารปัจจัยการผลิตร่วมกัน ทั้งเรื่องปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ กับเรื่องการเชื่อมโยงกับตลาด” อธิบดีกรมการข้าวกล่าว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา กรมการข้าวได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่า ด้วยการขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยวิธีบริการข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (COUNTER SERVICE) และข้อตกลงว่าด้วยการขอใช้โปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่ 146 ซึ่งกรมการข้าวจะนำมาใช้ประโยชน์ในการรับรองมาตรฐานข้าว GAP ข้าวอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์ข้าว โรงสีข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวได้ถูกต้อง อีกทั้งยังได้รับให้ดำเนินงานนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ปี 2561-2564 (ล้านไร่) และโครงการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวต้องได้รับการตรวจรับรองมาตรฐานข้าว