โตโยต้าทุ่มหนักทวงยอด ชิงนำ รง.แบตเตอรี่ไฮบริด-

ผ่าแนวคิด “บิ๊กโตโยต้า” ฉวยจังหวะตลาดฟื้นตัวทวงคืนยอด ทุ่มหมดหน้าตักทะลวงทุกช่องว่าง เด้งรับบีโอไอผุดโรงงานผลิตแบตเตอรี่กินรวบรถยนต์ไฮบริด ประเดิมส่งมอบ “ซี-เอชอาร์” มีนาคมนี้ พร้อมปรับแนวรุกรับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนลุยกระทุ้งแคมเปญใหม่รายเดือน ดันยอดขายปี 2561 แตะ 3 แสนคัน โต 25%

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยแนวทางรุกตลาดปี 2561 ว่า โตโยต้าจะฉวยจังหวะตลาดรถกลับมาฟื้นตัวชัดเจน บุกทะลวงรอบด้านเพื่อทวงคืนยอดขายซึ่งหดตัวมาหลายปี ปีนี้มั่นใจว่าหลังปรับยุทธศาสตร์การทำตลาดน่าจะผลักดันยอดขายโตเพิ่มขึ้น 25% หรือทำตัวเลขได้สูงถึง 3 แสนคัน ฟันมาร์เก็ตแชร์ทะลุ 33%

ยุทธศาสตร์ปีนี้จะให้ความสำคัญกับการลงทุนทุกด้าน ตั้งแต่พัฒนาโปรดักต์ใหม่ให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ซึ่งปัจจุบันรถยนต์โตโยต้ามีโปรดักต์ไลน์อัพครบทั้งเก๋งเล็ก-กลาง-ใหญ่ ปิกอัพ เอสยูวี เอ็มพีวี พีพีวี รวมทั้งอีโคคาร์ทั้งแบบซีดานและแฮตช์แบ็ก

การลงทุนในชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะแบตเตอรี่เพื่อรับตลาดเกิดใหม่กลุ่มรถยนต์ไฮบริด ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกและประเทศไทย รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้กับโปรดักต์เกือบทุกตัวเพื่อเป็นมาตรฐานของยานยนต์ในอนาคต เน้นไปที่ 4 กลุ่มหลัก คือ ประกอบด้วย 1.ระบบไฮบริดเจเนอเรชั่นใหม่ 2.นวัตกรรมโครงสร้างใหม่ TNGA (Toyota New Global Architecture) ระบบความปลอดภัยใหม่มาตรฐานระดับโลก และระบบนำทางและเชื่อมต่อผู้ขับขี่กับรถยนต์ (Toyota T-connect Telemat-ics) ซึ่งโตโยต้าเริ่มแนะนำกับรถซับคอมแพ็กต์เอสยูวีรุ่นใหม่ ซี-เอชอาร์ จะส่งมอบให้ลูกค้าได้ในเดือนมีนาคมนี้

“เรามั่นใจว่าตลาดฟื้นตัวแล้ว ปัจจัยบวกตอนนี้มีครบ ทั้งความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค, มาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ, จีดีพีที่มีแนวโน้มดีในระดับ 3.9% รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของค่ายรถต่าง ๆ จะเป็นแรงกระตุ้นให้ยอดขายรถทั้งปีทะยานขึ้นในระดับ 900,000 คัน”

ส่วนการลงทุนนั้น โตโยต้าใช้เม็ดเงินลงทุนราว 20,000 ล้านบาท กับโครงการรถยนต์ไฮบริดซึ่งได้รับส่งเสริมจากบีโอไอ โดยจะเริ่มผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฮบริด ที่โรงงานเกตเวย์ ฉะเชิงเทรา กำลังผลิตตอนนี้ยังไม่พร้อมเปิดเผยแต่โรงงานเกตเวย์สามารถผลิตรถยนต์ได้สูงถึง 300,000 คันต่อปี พร้อมปรับยืดหยุ่นได้ตามความต้องการของตลาด

“โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ได้การตอบรับดีมาก การผลิตแบ่งเป็นรุ่นไฮบริด 75% และธรรมดา 25% ส่วนการจะเข้าไปสู่ตลาดรถอีวี หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริดหรือไม่นั้น เราเชื่อว่าอนาคตรถประเภทนี้มาแน่ แต่ต้องมีกลุ่มรถไฮบริดเป็นสะพานเชื่อมอย่างน้อย 10 ปี เนื่องจากรถอีวียังมีปัญหาหลายจุด โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟ”

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้โตโยต้าไปสู่เป้ายอดขาย 300,000 คัน ยังต้องใช้แผนทำตลาดอื่น ๆ เสริม เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าระยะหลังรอคอยโปรโมชั่น ดังนั้นการทำตลาดของโตโยต้า จึงพยายามนำเสนอแคมเปญทางการเงินและเงื่อนไขการเป็นเจ้าของรถให้ง่ายขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด

ประเทศไทยปี 2560 ที่ผ่านมาขายรถได้ทั้งสิ้น 870,748 คัน (ประมาณการถึงวันที่ 12 มกราคม 2561) มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 13.3% แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 345,501 คัน โต 23.5% รถเพื่อการพาณิชย์ 525,247 คัน โต 7.4% รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 424,282 คัน โต 7.7% และเป็นเฉพาะรถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 364,706 คัน โต 9.4%

ขณะที่โตโยต้ามียอดขาย 240,137 คัน ลดลง 2.0% แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 96,606 คัน เพิ่มขึ้น 10.7% รถเพื่อการพาณิชย์ 143,531 คัน ลดลง 9.1% และรถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ 133,458 คัน ลดลง 10.1%

ด้านตลาดส่งออกในปีที่ผ่านมา โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จำนวน 299,385 คัน ลดลง 6% คิดเป็นมูลค่า 159,321 ล้านบาท ส่งออกชิ้นส่วน มูลค่า 65,387 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าการส่งออกที่นำรายได้กลับสู่ประเทศไทยเป็นเงินทั้งสิ้น 224,708 ล้านบาท

“โตโยต้าแม้จะมีการเปิดตัวรถใหม่ถึง 3 รุ่น คือ ยาริส เอทีฟ, ยาริส แฮตช์แบ็ก และรีโว่ใหม่ แต่เป็นการเปิดตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จึงทำให้ไม่สามารถบูตยอดขายปี 2560 ให้กระเตื้องขึ้นได้ทัน”