“โบ๊ทลากูน” โตฉลุย 20% ลุยขยายศูนย์ซ่อมรับยอชต์หรู-

เติบโตต่อเนื่อง - บริษัท โบ๊ทลากูนยอชต์ติ้ง จำกัด ผู้นำเข้าเรือยอชต์ชั้นนำในไทย เดินหน้าลุยธุรกิจครบวงจร ทั้งการขายเรือยอชต์มือหนึ่ง มือสอง รวมถึงการเช่าเรือ และมุ่งเน้นการซ่อมแซมบำรุงรักษาเรือ และการบริการหลังการขาย ซึ่งมองว่าไทยยังมีศักยภาพอีกมาก

โบ๊ทลากูนยอชต์ติ้ง บิ๊กธุรกิจนำเข้าเรือยอชต์ครบวงจรของไทย เดินหน้าบุกตลาดพรีเมี่ยมรับมาตรการส่งเสริมศูนย์กลางท่องเที่ยวทางทะเล ชี้ไทยศักยภาพสูงทุกด้าน รวมถึงภาษีนำเข้าสุดเร้าใจ 0% ได้เปรียบคู่แข่งมาเลย์ สิงคโปร์ ปักหลัก 9 สาขา 5 ประเทศ ชูจุดเด่นศูนย์ซ่อมเรือภูเก็ต มูลค่า 1,200 ล้านบาท ตั้งเป้าเติบโต 15-20%

นายวริศ ยงสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โบ๊ทลากูนยอชต์ติ้ง จำกัด บริษัทนำเข้าเรือยอชต์ระดับลักเซอรี่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โบ๊ทลากูนยอชต์ติ้ง เป็นบริษัทนำเข้าเรือยอชต์ระดับลักเซอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดดำเนินการมา 24 ปีแล้ว รวมถึงมีศูนย์ซ่อม และบริการหลังการขายที่ครบวงจรที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ดังของโลก เช่น Princess จากอังกฤษ Jeanneau และ Prestige จากฝรั่งเศส และ Wider จากอิตาลี เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 9 สาขา ใน 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ และไทย ทั้งในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่

ปัจจุบันประกอบธุรกิจ 5 หมวดหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจจำหน่ายเรือยอชต์ลำใหม่ 2.ธุรกิจจำหน่ายเรือมือสอง 3.ธุรกิจเช่าเรือ 4.การซ่อมแซมและบำรุงรักษาเรือ ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ 5.การบริการหลังการขาย โดยขณะนี้บริษัทมีศูนย์ซ่อมเรือที่ จ.ภูเก็ต บนเนื้อที่ 80 ไร่ มูลค่า 1,200 ล้านบาท และมารีน่าใน จ.ภูเก็ต บนเนื้อที่ 500 ไร่ มีพนักงานอยู่ 80 กว่าคน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีเรือที่ลูกค้าใช้บริการอยู่ประมาณ 200 ลำในภูมิภาค มีขนาดตั้งแต่ 30 ฟุต จนกระทั่งเรือซูเปอร์ยอชต์ 130 กว่าฟุต โดยเรือแต่ละขนาดจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ เสน่ห์ของการเล่นเรือยอชต์นั้น คือ การที่สามารถกำหนดเส้นทางเองได้ มีความเป็นส่วนตัว อิสระ บางครั้งอาจะใช้เป็นกีฬาได้ รวมถึงอาจใช้เยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ

นายวริศกล่าวว่า บริษัทจำหน่ายเรือปีละประมาณ 30 กว่าลำ ทั้งมือหนึ่งและมือสอง ซึ่งลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่จะซื้อเงินสด และนิยมเรือนำเข้าจากประเทศอังกฤษ ทั้งนี้การสั่งซื้อเรือนั้น ลูกค้าสามารถเลือกแบบ ทั้งภายใน ภายนอก และอุปกรณ์เทคนิคต่าง ๆ เองได้ หากเป็นเรือขนาดกลางประมาณ 50 ฟุต ต้องใช้ระยะเวลา 1 ปี จึงจะได้สินค้า หรือเรือขนาด 80-100 ฟุต ใช้เวลากว่า 2 ปี โดยราคาเรือยอชต์มีตั้งแต่ 20-4,000 ล้านบาท ถ้าเป็นมือสอง บางครั้งมีราคาตั้งแต่ 5-400 ล้านบาท ซึ่งเรือกินน้ำลึกประมาณ 1.5-3.5 เมตร

“สมัยก่อนลูกค้าส่วนใหญ่ 80-90% เป็นชาวต่างชาติ แต่เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีคนไทย 20-35% สนใจเล่นเรือยอชต์มากขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วคนไทยมีความพร้อมด้านกำลังทรัพย์มาก แต่มีความกังวลเรื่องของการบริการ คือไม่เข้าใจว่าขั้นตอนการดูแลเรือยอชต์มีอะไรบ้าง บุคลากรตรงไหนที่สามารถให้บริการได้อย่างชำนาญการ”

ปัจจุบันบริษัทได้ลงทุนสร้างท่าจอดเรือ ศูนย์ซ่อมบำรุงรักษา หรือทีมงานการดูแลรักษาที่มีความรู้ ที่สามารถให้ความมั่นใจลูกค้าได้ ทำให้อุตสาหกรรมนี้โตขึ้นมา ประกอบกับรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนการจัดงานไทยแลนด์โรดโชว์ หรืออำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งเรื่องฐานภาษี ซึ่งขณะนี้ภาษีของเรือยอชต์คิดเพียงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ส่วนภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 0% รวมถึงการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ หรือการให้ข้อมูลชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย ก็ถือว่าช่วยได้เยอะ

“สถิติเรือยอชต์ที่เข้ามาในไทยอยู่ที่ 1,200-1,500 ลำ คาดว่าจะเติบโตขึ้นอีก 10-15% โดยเรือ 1 ลำ ใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 เดือน โดยลูกค้าใช้เงินหลากหลายรูปแบบเฉลี่ย 100,000 บาท/วัน/คน ซึ่งการใช้จ่ายที่ครอบคลุมถึงการเดินทาง การใช้ซื้ออาหาร การว่าจ้างพนักงานต่าง ๆ อีกทั้งการเติมน้ำมัน ซึ่งเรือขนาด 40-50 ฟุต จะเติมน้ำมันประมาณ 200,000 บาท/ครั้ง หรือขนาด 80 ฟุต ประมาณ 400,000 บาท/ครั้ง รวมมูลค่าทั้งหมด 7,000-9,000 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทคาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 15-20% ต่อปี”


นายวริศกล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยนั้นยังคงได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านหลายด้าน ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ซ่อมแซม สถานที่ดูแลรักษาเรือ สถานที่จอด หรือแม้แต่กระทั่งหัวใจหลัก ๆ คือ การบริการของคนไทยด้านช่าง เซอร์วิส และการบริการบนเรือ อีกทั้งภาครัฐและเอกชนก็ร่วมกันพัฒนาต่อเนื่อง ถือว่ายังได้เปรียบคู่แข่งขันอีกมาก แต่ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์ ก็พยายามปรับตัวแข่งขันเช่นกัน